• Latest News

    วันศุกร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2558

    อัตลักษณ์และการแต่งกายชาวบาบ๋าฝั่งทะเลอันดามัน



    อัตลักษณ์การแต่งกายชาวบาบ๋าฝั่งทะเลอันดามัน

    เมืองตะกั่วป่า จังหวัดพังงา หนึ่งในเขตแดนสามเหลี่ยมอันดามัน ประกอบด้วย กระบี่-พังงา-ภูเก็ต ตะกั่วป่า หรือ”ตักโกละ” (ตัก-โก-ละ) เมืองท่าโบราณริมฝั่ง อันดามันในเอกสารโบราณ เช่น คัมภีร์ มิลินทปัญหา ซึ่งพระปิฎกจุฬาภัยเถระ ได้รจนา เป็นภาษาบาลี เมื่อ พ.ศ. 500

    ความเป็นเมืองท่าสำคัญทางประวัติศาสตร์ และปัจจุบันเป็นเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว เนื่องด้วยเมืองตะกั่วป่า มีความได้เปรียบทางต้นทุนวัฒนธรรมเก่าแก่ที่ทรงคุณค่าควรแก่การจดจำเล่าขาน ประกอบกับภูมิทัศน์ ทรัพยากรแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และอาคารบ้านเรือนสไตล์ชิโนโปตุกีส ( ถนน- ศรีตะกั่วป่า) ที่แฝงด้วยเสน่ห์ผ่านเรื่องราววิถีชีวิตของผู้คนเมืองตะกั่วป่า ซึ่งประกอบ ด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีไทยพุทธไทยมุสลิม และชาวจีน หรือลูกครึ่งไทย-จีน ในสังคมยุคนั้นมักเรียกลูกหลานไทย-จีนว่า “ลูกบาบ๋า”(Baba)

    ซึ่งปัจจุบัน ชาวจีนหรือ “ บาบ๋า” นับเป็นส่วนหนึ่งของประชากรเมือง การเข้ามาของชาวจีนยุคนั้นส่วนใหญ่มาจากมณฑลทางภาคใต้ ในเขตมลฑลฮกเกี้ยน และกวางตุ้ง โดยประกอบอาชีพรับจ้างงานในเหมืองแร่ หรือพวกกรรมกร (กุลี) ที่เถ้าแก่ส่งนายหน้าไปว่าจ้างมาจากเมืองจีน หรือบริษัทจัดหางานของชาวจีนในปีนัง สิงคโปร์ โดยเถ้าแก่ออกค่าใช้จ่ายต่างๆให้แต่ต้องปฏิบัติงานตามสัญญา คือ 3 ปี วิธีการแบบนี้เรียกว่า “กรรมกรประเภทจ่ายค่าจ้างล่วงหน้า”(Identure-Labour)แต่เมื่อทำครบสัญญาแล้ว สามารถเปลี่ยนนายจ้างใหม่หรือออกไปประกอบอาชีพส่วนตัวได้ ในยุคนั้นความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรโดยเฉพาะแร่ดีบุก บวกกับความขยันมานะทำกินของชาวจีนยุคนั้น ส่งผลให้เกิดความมั่งคั่งร่ำรวย บ้างก็แต่งงานอยู่กินกับสตรีพื้นถิ่น มีลูกหลานสืบแซ่สกุล ลูกชายมักเรียกว่า “บาบ๋า ”(baba) ลูกสาวเรียกว่า “ยอนย่า”(Naonya) ความหมายคือลูกที่เกิดบนแผ่นดินแม่ (Local inborn) ต่อมาจะเรียกรวบๆกันว่า “ลูกบาบ๋า” (ทั้งชายและหญิง)

    บทบาทของชาวจีนและลูกบาบ๋าทางด้านสังคมและวัฒนธรรมในเมืองตะกั่วป่า

    - ทางสังคม มีการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีดั่งเดิมของตนไว้อย่างชัดเจน เช่น การสร้าง “อ๊าม” (ศาลเจ้า) เพื่อเป็นศูนย์กลางของชุมชน ในการพบปะพูดคุยและร่วมทำกิจกรรมต่างๆ ต่อมามีการตั้งสมาคมและโรงเรียนจีนเพื่อลูกหลานที่เกิดมาได้เล่าเรียนภาษาจีนของพ่อ ซึ่งจะก่อตัวเป็นสายใยถักทอความผูกพันที่จะส่งลูกไปเรียนต่อเมืองปีนัง อันเป็นรากเหง้าบรรพชนของพ่อ

    - ทางด้านวัฒนธรรม วิถีชีวิตของชาวจีนในเมืองตะกั่วป่าจะมีความคล้ายคลึงกับชาวจีนในเมืองปีนัง เช่น ประเพณีท้องถิ่น วัฒนธรรมทางภาษา อาหาร ความเชื่อ พิธีกรรม พิธีแต่งงาน และอัตลักษณ์การแต่งกาย




    เสื้ออาโป๋ สำหรับการแต่งกายของสตรี บาบ๋า ฝั่งอันดามันในยุคแรกๆ เช่น ( เสื้อคอตั้ง ( เสื้อคอตั้งแขนจีบ) โทนสีขาวหรือครีม (ด้วยข้อจำกัดในการย้อมสี-ผ้า) ผ้าที่นิยมใช้คือ ป่านพื้นหรือลายดอก ตกแต่งลูกไม้ชายเสื้อ ลักษณะของเสื้อ-คอตั้งแขนจีบ บ่งบอกถึงความหลากหลายทางชาติพันธุ์ คอเสื้อสูงแบบจีน ปลายแขนรวบจีบแบบเสื้อมาเลย์ ตัวเสื้อสั้นลอยแบบพม่ามอญ นุ่งปาเต๊ะอินโดนีเซีย ซึ่งตรงกับหลักฐานการกระจายตัวของกลุ่มบาบ๋า ในมะริด ทวาย มัณทะเลย์ อีโปร์ ปีนัง มะละกา สิงคโปร์ กัวลาลัมเปอร์ เมดาน อินโดนีเซียและไทย อันประกอบด้วย กระบี่ พังงา(ตะกั่วป่า) ภูเก็ต ระนอง ตรังและสตูล (เมืองฝั่งอันดามัน)









    ครุยยาว (Baju panjang) นิยมสวมทับเสื้อคอตั้งแขนจีบ การแต่งกายชุดครุยยาวมักเป็นประมุขของบ้านหรือนายหัวหญิง ในยุคนั้นหมายถึงภรรยานายเหมือง ครุยยาวไม่มีกระดุม จะกลัดด้วย”โกรส้าง”(Kerosang Ibu) 1ชุดมี3ชิ้น ตัวใหญ่สุดกลัดบนสุดของสาบเสื้อครุย รองลงมา2ตัวกลัดลดลั่นตามความสวยงามเหมาะสม(ความยาวครุยวัดเหนือริมปาเต๊ะขึ้นมา 1 คืบ)
















    ครุยสั้น ลักษณะของครุยสั้นนิยมสวมทับเสื้อคอตั้งแขนจีบ กลัดด้วยโกรส้างแทนกระดุม ครุยสั้นพัฒนารูปแบบให้มีความเหมาะสมกับภารกิจประจำวัน นิยมตัดเย็บด้วยผ้าลูกไม้หรือป่าน






















    เสื้อยาหยา เป็นเสื้อคอแหลมผ่าหน้าตลอดไม่กลัดกระดุม ใช้เข็มกลัด 3 ตัว กลัดโยงกัน เรียกว่า “Kerosang Rantai” ลักษณะเป็นลายเครือเถาร์ช่อดอกไม้หรือรูปสัตว์มงคล ชายเสื้อด้านหน้าแหลม ด้านหลังคลุมสะโพก เป็นเสื้อเข้ารูปในภาษามาลายูเรียกว่า “Kebaya” สำหรับชาวจีนเรียกว่า “ปั่วตึ่งเต้”(ครึ่งสั้นครึ่งยาว)

    Kebaya แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะคือ
    1. เคบายา เลี่ยนด้า หรือลันดา หมายถึง เสื้อที่ตกแต่งชายเสื้อด้วยลูกไม้จาก ฮอลันดา
    2. เคบายา บีซู หมายถึง เสื้อที่มีการซิกแซ็กให้ชายเสื้อโค้งเว้า เพื่อความสวยงามของผู้สวมใส่

    3. เคบายา ซูแลม หมายถึง เสื้อที่มีการปักฉลุลายเครือเถาว์ของดอกไม้ และสัตว์มงคล มีความหลากหลายของสีสันและลวดลายที่วิจิตร บ่งบอกถึงจริตที่งดงามของผู้สวมใส่




    ชุดแต่งงานของเจ้าสาว
    ประกอบด้วยเสื้อคอตั้งแขนจีบสีขาว สวมทับด้วยครุยยาวผ้าป่านรูเบีย หรือผ้าแพรจีน สีที่นิยมคือ ชมพู ส้ม ครีม ฟ้า หรือโทนสีหวานๆ ลวดลายของครุยมักเป็นดอกไม้ แมลง หรือสัตว์มงคลตามความเชื่อ และนุ่งโสร่งปาเต๊ะ

    เครื่องประดับเจ้าสาวบาบ๋า

    1. ฮั่วก๋วน หรือมงกุฎที่ประดิษฐ์จากดิ้นเงินดิ้นทอง เป็นดอกไม้ไหว หรือเรียกว่า “ดอกเฉงก๊อ” และลูกปัดแก้ว-ทอง โดยเจ้าสายจะต้องเกล้าผมแบบโบราณที่เรียกว่า “ทรงชักอีโบย” ด้านบนทำมวย “หอยโข่ง”ซึ่งประดับด้วย “หงส์”-“เฟิง” หรือเฟิ่งหวาง(Feng-Huang) หรือ “ฟินิกซ์”(Phoenix) โดยความหมาย คือ หงส์เป็นใหญ่สุดในหมู่มวลสัตว์ปีกมีเสียงร้องกังวานดุจเสียงขลุ่ย หงส์ปรากฏตัวในแผ่นดินที่มีแต่ความสงบร่มเย็น จึงเป็นนัยยะที่จะสอนเจ้าสาวว่าเมื่อแต่งงานเข้าอยู่บ้านสามีแล้ว ต้องมีปิยะวาจาที่อ่อนหวานดุจเสียงกังวานของหงส์ดูแลบ้านสามีให้เกิดความสงบร่มเย็น และในภายภาคหน้าอาจจะได้เป็นใหญ่ดุจนางพญาหงส์ของบ้าน ด้านหน้าของมวยผมประดับด้วยดอกไม้และผีเสื้อ ด้วยความหมายสื่อถึงการใช้ชีวิตคู่ และความรักความผูกพันที่มีต่อกับชั่วกัลปาวสาน
    2. ปิ่น เสียบมวยผม ประดิษฐ์จากทองคำประดับเพชรลูกหรือเพชรซีก
    3. หลันเต๋ป๋าย เป็นสร้อยคอทองคำประดับเพชรลูกหรือเพชรซีก ฉลุลายเครือเถาว์รูปนกหรือแมลงและดอกไม้ นับเป็นลายที่มีความวิจิตรตามรูปแบบของช่างทองชาวจีนในยุคนั้น
    4. ต่างหูห้อยระย้า หรือหางหงส์ ประดับเพชรรูปหรือเพชรซีก
    5. สร้อยคอยาวลดลั่นหลายเส้น หรือ สร้อย”โก้ปี้จี๋” ประดับปิ่นตั๋ง 6-12 ดอก
    6. กำไลข้อมือข้อเท้า แหวนบาเย๊ะ รองเท้าลูกปัด



    เสื้อลูกไม้ต่อดอก เป็นเสื้อที่นิยมใช้ในปัจจุบันรูปแบบการตัดเย็บ แล้วแต่โอกาสและความเหมาะสมของรูปร่าง วัย นุ่งผ้าปาเต๊ะ เครื่องประดับตามความเหมาะสมฐานะ
















    การแต่งกายผู้ชายบาบ๋า

    ช่วงก่อนศตวรรษที่19 ผู้ชายบาบ๋ามักนิยมใส่เสื้อแบบจีนโบราณ ที่เรียกว่า “ตึ่งจ่วง” เป็นเสื้อคอสูงแบบจีน ผ่าหน้าตลอด สาบหน้าอาจจะตรงหรือป้ายออกข้าง กลัดด้วยกระดุมจีน “หลิน” 5เม็ด ที่ผูกด้วยผ้าเป็นลูกกลมคล้ายหัวแมลงวัน ทรงเสื้อตรงปล่อยคลุมสะโพก ผ่าข้างเล็กน้อย ปะกระเป๋าสองข้าง นิยมสวมใส่คู่กับกางเกงแพรจีน “ปั่งลิ้น” โทนสีที่นิยมคือ น้ำเงินเข้ม ดำ น้ำตาล เทาดำ ด้วยข้อจำกัดของสีย้อมผ้าในยุคนั้น



































    ทรงผมของผู้ชายยุคนั้น โกนผมด้านหน้าออกไว้เปียด้านหลังยาว ในยุคราชวงศ์ชิง (พ.ศ. 2187 – 2455) ซุนยัตเซ็น ปฏิวัติ และเข้ายึดอำนาจ ผู่อี๋ จักรพรรดิ์องค์สุดท้ายถูกบังคับให้สละราชสมบัติ ในปีพ.ศ.2455 ถือเป็นจุดอวสานของราชวงศ์ชิง ต่อมาเมื่อมีการติดค้าขายกับต่างประเทศจึงเลิกไว้ผมเปีย(ถ่าวจ่าง) หันมาตัดทรงผมแบบตะวันตก เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายเริ่มเปลี่ยนเป็นแบบสูทสากล ซึ่งชาวบาบ๋าในยุคนั้นจะมีคำเรียกการแต่งกายแบบสากลว่า “สวมแม่เสื้อ ใส่เกือกแบเร็ต”และในบางโอกาสจะแต่งกายด้วยชุดนายเหมือง ลักษณะคล้ายชุดราชประแตน ผ้าที่นิยมใช้ตัดเย็บ เป็นผ้า ไต่เส็ง หรือ ผ้าเวสป้อยท์ โทนสีกากีทั้งเสื้อและกางเกงทรงสุภาพ สวมหมวกกะโล่


    สีกากีเช่นกัน ซึ่งเป็นการแต่งกายที่สุภาพในยุคนั้น








    ชุดเจ้าบ่าว
    ส่วนเจ้าบ่าวแต่งกายชุดนายเหมือง หรือชุดสูทสากลติดดอกไม้ที่หน้าอก


















    ข้อมูล

    1. โป๋สิวเอก ลิ่มสกุล อายุ94ปี (ถึงแก่กรรม)

    2. อาจารย์จรินทร์ นีรนาทวโรดม 080-8930421

    081-7190224

    เอกสาร ใช้เผยแพร่ในกลุ่มบาบ๋า

    THE ANDAMAN COAST BABA SOCIATY



    ชุดนายหัวหญิง
    เป็นชุดสำหรับคหบดีภรรยานายเหมือง ใช้โกรสร้างกลัดติดแทนกระดุม เกล้ามวยทรงสูงซึ่งเรียกกันว่า ชักอีโบย ก่อนจะใส่มงกุฏไข่มุกหรือดอกมะลิรัดมวยผมปักปิ่นทอง

    เครื่องประดับ
    1.โกรส้าง
    ใช้ประดับชุดเจ้าสาว ชุดนายหัวหญิง ชุดคอตั้งแขนจีน
    2.โกรส้างหลันด๋าย
    ใช้ประดับชุดปั๋วตึ๋งเต้
    3.หลันเต่ป๋าย
    4.ฮั่วหนา
    5.กิ้มตู้น
    6.กิ้มป้าย
    7.ปิ่นตั๋ง
    8.กั่วปี่จี
    9.ต่างหูดอกพิกุล
    10.ต่างหูหงส์ทอง
    11.ต่างหูตุ้งติ้ง
    12.แหวนบาเย๊ะ
    13.แหวนดอกพิกุล
    14.กระเป๋าเงิน
    15.เมี่ยนป่อ
    16.สร้อยข้อมือ กำไรข้อมือ

    เครื่องนุ่ง

    โดยการแต่งกายชุด "บาบ๋า ย่าหยา" ในปัจจุบัน เป็นการผสมผสานวัฒนธรรมของหลายชนชาติออกมาอย่างสวยงาม ซึ่งชาวพังงายังคงรักษาวัฒนธรรมการแต่งกายแบบ ชุดบาบ๋า และ ชุดย่าหยา ไว้โดยปรับเปลี่ยนรายละเอียดของชุดให้ทันกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

    • Blogger Comments
    • Facebook Comments

    0 ความคิดเห็น :

    แสดงความคิดเห็น

    Item Reviewed: อัตลักษณ์และการแต่งกายชาวบาบ๋าฝั่งทะเลอันดามัน Rating: 5 Reviewed By: phangngachannel
    Scroll to Top