• Latest News

    วันอังคารที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2558

    พระยาเสนานุชิตสิทธิสาตรามหาสงคราม พระยาเสนานุชิต (นุช) สายเมืองตะกั่วป่า ชั้น 3

    พระยาเสนานุชิตสิทธิสาตรามหาสงคราม พระยาเสนานุชิต (นุช) สายเมืองตะกั่วป่า ชั้น 3

    เมืองพังงาในอดีตพระยาเสนานุชิต (นุช) นามเดิมของท่านเท่าที่ปรากฏในเอกสารต่าง ๆ เขียนเป็น นุด บ้าง นุช บ้าง ท่านเป็นบุตรคนที่เจ็ดในจำนวนบุตรธิดา 35 คนของเจ้าพระยานคร (น้อย) เป็นน้องร่วมมารดาของพระยาบริรักษ์ภูธร (แสง) เคยถวายตัวเป็นมหาดเล็ก เมื่อเจ้าพระยานคร (น้อย) ตีเมืองไทรบุรีได้คราวแรก ได้ให้พระยาบริรักษ์ภูธร (แสง) บุตรชายตั้งแต่ครั้งเป็นพระภักดีบริรักษ์เป็นผู้รักษาเมือง ให้พระยาเสนานุชิต (นุช) ตั้งแต่ยังไม่มีบรรดาศักดิ์อยู่ช่วยรักษาเมืองด้วย เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรด ฯ ให้พระภักดีบริรักษ์ (แสง) เป็นพระยาไทรบุรีแล้ว ให้โปรด ฯ ให้นายนุชมหาดเล็กเป็นพระเสนานุชิต ปลัดเมืองไทรบุรีด้วย
    เมื่อย้ายพระยาไทรบุรี (แสง) ไปเป็นผู้ว่าราชการเมืองพังงา ก็ได้โปรด ฯ ให้ย้ายพระยาเสนานุชิต (นุช) ไปเป็นปลัดเมืองพังงาด้วย ชีวิตของท่านจึงมีส่วนเกี่ยวพันกับเมืองพังงา ภายหลังเมื่อตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองตะกั่วป่าว่าง จึงโปรด ฯ ให้ย้ายไปเป็นผู้ว่าราชการเมืองตะกั่วป่า เป็นที่พระยาเสนานุชิต
    ต้นรัชกาลที่ 5 พระยาเสนานุชิต (นุช) ยังเป็นผู้ว่าราชการเมืองตะกั่วป่าอยู่ในการประมูลภาษีมีผลประโยชน์ พ.ศ.2415  พระยาเสนานุชิต (นุช) ก็ปรากฏชื่อว่ารับประมูลด้วย

    พระยาเสนานุชิต (นุช) ไม่ทราบประวัติรายละเอียด ทราบแต่ว่ามีความมั่นคงในการปกครองเมือง พิจารณาประวัติเท่าที่ทราบ ปรากฏว่าท่านเคยผ่านราชการงานเมืองมามาก ทำนองเดียวกับพระยาบริรักษ์ภูธร (แสง) เคยเป็นปลัดเมืองไทรบุรี ซึ่งเป็นหัวเมืองใหญ่มาก่อน ในระยะที่พวกแขกก่อความวุ่นวายที่เมืองไทรบุรี และหัวเมืองปักษ์ใต้ส่วนล่างทุกครั้ง พระยาเสนานุชิต (นุช) ได้เป็นกำลังสำคัญ รับเหตุการณ์ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับพระยาบริรักษ์ภูธร (แสง) ผู้เป็นพี่ชาย เคยคุมกองทัพสู้รบกับพวกแขกเพื่อตีเมืองไทรบุรีคืน โดยเฉพาะการต่อสู้กับลูกหลานพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) ที่ก่อเหตุครั้งหลัง มีตนกูหมัดสอัด คนกูอับดุลลา คนกูอาเกบ เป็นต้น พระยาเสนานุชิต (นุช) เป็นกำลังสำคัญของกองทัพเป็นที่สองรองจากพระยาไทรบุรี (แสง)
    สิ่งสำคัญอีกสองประการที่ส่งเสริมฐานะของพระยาเสนานุชิต (นุช) คือ ประการหนึ่ง ท่านเคยเป็นมหาดเล็กมาก่อน ย่อมเข้าใจธรรมเนียมปฏิบัติราชการ และระเบียบในราชสำนักเป็นอย่างดี อีกประการหนึ่งมีฐานะมั่งคั่ง อันเนื่องมาจากการรับผูกภาษีผลประโยชน์ ทำนองเดียวกับเจ้าเมืองอื่น ๆ ในบริเวณชายทะเลตะวันตก
    พระยาเสนานุชิต (นุช) มีบุตรธิดามากถึง 58 คนประวัติพระยาเสนานุชิต (นุช)


    สำเนาเอกสารเกี่ยวกับประวัติพระยาเสนานุชิต ฯ (นุช) เมื่อพระยศภักดี (อุ) หรือพระตะกั่วป่า (อุ) ตายแล้ว มีตราพระคชสีห์ลงวันอาทิตย์ แรม ๔ ค่ำ เดือนอ้าย ปีเถาะ เบญจศก จุลศักราช ๑๒๐๕ โปรดเกล้า ฯ ย้ายจากผู้ช่วยราชการเมืองพังงา เป็นผู้ว่าราชการเมืองตะกั่วป่า พระราชทานสัปทนปัศตู คัน ๑ กระบี่ด้ามทอง เล่ม ๑ เสื้อขาบริ้วตัว ๑ ผ้าปูมผืน ๑ แพรขาวห่มผืน ๑ แต่ต้นท้องตราและพระราชโอวาททั้ง ๒ ฉบับหาย ยังไม่พบ จึงไม่ได้คัดสำเนาลงไว้สำเนาตราพระคชสีห์สารตราท่านเจ้าพระยาอัครมหาเสนาธิบดีอภัยพิรยบรากรมพาหุสมุหพระกลาโหม ให้มาแก่หลวงเพชรภักดีศรีราชสงครามปลัด หลวงพรหมภักดีศรีราชยกกระบัตรกรมการผู้อยู่รักษาเมืองตะกั่วป่า ด้วยมีพระบรมราชโองการตรัษเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งว่า โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พระเสนานุชิต ไปว่าราชการบ้านเมือง ๆ ตะกั่วป่า พระเสนานุชิตทำราชการฉลองพระเดชพระคุณรักษาบ้านเมืองตั้งแต่ปีเถาะ เบญจศก มาจนถึงปีชวด จัตวาศก ได้เก้าปีสิบปีแล้ว ผู้คนไทยจีนก็บริบูรณ์มากาขึ้นกว่าแต่ก่อน บ้านเมืองก็ปรกติเรียบร้อย ถ้อยความสิ่งไรก็มิได้เกี่ยวข้องให้เคืองใต้ฝ้าละอองธุลีพระบาท ทำอาการดีบุกของหลวงก็ได้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน ถึงกำหนดงวดปีก็ส่งอากรเศษดีบุกพรรณผ้าจังกอบส่วยหางเข้าค่านาครบตามจำนวนทุกปีมิได้ขาดค้างล่วงงวดล่วงปีแต่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง พระยาเสนานุชิตจงรักภักดีต่อใต้ฝ้าละอองธุลีพระบาท สัตย์ชื่อมันคงเป็นความชอบสมควรเป็นผู้ใหญ่ได้ จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานตัวพระบรมราชโองการ ตั้งให้พระเสนานุชิตเป็นพระยาเสนานุชิตสิทธิสาตรามหาสงคราม ผู้สำเร็จราชการเมืองตะกั่วป่า ให้เกียรติยศใหญ่ยิ่งขึ้น กรมการผู้ใหญ่ผู้น้อยไพร่บ้านพลเมืองจะได้ยำเกรงกว่าแต่ก่อน กิตติศัพท์ปรากฏไปนอกประเทศก็จะได้เป็นที่นับถือ โปรดพระราชทานถาดหมากทองคำใบหนึ่ง คนโฑทองคำใบหนึ่ง ประคำทองสายหนึ่ง กระบี่บั้งทองเล่มหนึ่ง สัปทนปัศทูคันหนึ่ง เสื้อทรงประพาศตัวหนึ่ง หมวกตุ้มปี้ใบหนึ่ง เสื้อเข้มขาบริ้วตัวหนึ่ง แพรขาวผืนหนึ่ง ผ้าปูมผืนหนึ่ง ให้พระยาเสนานุชิตสิทธิสาตรามหาสงคราม ผู้สำเร็จราชการตั้งใจทำราชการฉลองพะรเดชพระคุณรักษาบ้านเมืองขอบขัณฑเสมา ปราบปรามโจรผู้ร้ายปล้นสดมภ์ย่องเบา ฉกชิงวิ่งราวลอบลักฆ่าฟันกันล้มตายในบ้านเมือง และป้องกันขศึกสลัดสัตรูนอกประเทศในประเทศ อย่าให้ลักลอบมากระทำยำปีดีเรือลูกค้าพานิชจับกุมผู้คนในเขตต์แดนได้ และเมืองตะกั่วป่าไพร่บ้านพลเมืองเป็นไทยจีนแขก หลายชาติหลายภาษา บ้านเมืองอยู่ต่อปลายเขตต์แดน ราชการงานโยธาสิ่งใดก็ไม่กะเกณฑ์เหมือนกับหัวเมืองชั้นในซึ่งใกล้กรุงเทพพระมหานคร ให้พระยาเสนานุชิตสิทธิสาตรามหาสงครามกำชับกำชาเจ้าหมู่มูลนายอย่าให้ใช้สอยไพร่ซึ่งมิได้เป็นราชการบ้านเมืองและอย่าให้เบียดเบียฬเอาพัศดุทองเงินให้ได้ความยากแค้นอพยพหอบหนีไปอยู่ละทิ้งหลังเคี้ยบกเทียนบางกระเถ้าและที่มลิวันนอกเขตต์แดนได้ ให้พระยาเสนานุชิตสิทธิสาตรามหาสงครามเอาใจใส่ดูแลทะนุบำรุงไพร่บ้านพลเมืองให้อยู่เย็นเป็นสุข ให้ทำมาหากินตามภูมิลำเนาเป็นปรกติ ผู้คนหลบหนีไปแต่ก่อนนั้น คนที่เมืองตะกั่วป่าก็ดี และคนหัวเมืองปักษ์ใต้จะเป็นคนเมืองใด ๆ ก็ดี ไพร่จะสมัครอยู่กับพระยาเสนานุชิตสิทธิสาตรามหาสงคราม ให้พระยาเสนานุชิตสิทงธิสาตรามหาสงครามคิดอ่านอุบายปัญญาชักชวนเกลี้ยกล่อมเอามาใส่บ้านเมืองให้สมควรที่ทรงพระมหากรุณาชุบเลี้ยง ให้พระยาเสนานุชิตสิทธิสาตรามหาสงครามรักษาบ้านเมืองขอบขัณฑเสมาสำเร็จกิจสุขทุขของอาณาประชาราษฎรโดยยุติธรรม ตามท้องตรา และพระราชโอวาทสำหรับตำแหน่งที่ซึ่งโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมออกมาแต่ก่อนนั้นเถิด สารตรามา ณ วันอาทิตย์ เดือนเก้า ขึ้นเก้าค่ำ จุลศักราชพันสองร้อยสิบสี่ ปีชวด จัตวาศกตรารูปคนถือสมุดประจำครั่ง ตราพระคชสีห์น้อยประจำผลึก
    สำเนาตราพระคชสีห์สารตรา ท่านเจ้าพระยาอัครมหาเสนาธิบดีอภัยพิริยบรากรมพาหุสมุหพระกลาโหม ให้มาแก่หลวงไชยเสนามหาดไทย หลวงเพชรกำแหงรองเมือง หลวงพรหมเสนาศักดี กรมการผู้อยู่รักษาเมืองตะกั่วป่า ด้วยพระยาเสนานุชิตสิทธิสาตรามหาสงคราม ผู้สำเร็จราชการเมืองตะกั่วป่า เข้าไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ กรุงเทพพระมหานครครั้งนี้ มีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนารถดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งว่า หัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายทะเลตะวันตก แต่ก่อนพระยาบริรักษ์ภูธร ผู้สำเร็จราชการเมืองพังงา พระยาเสนานุชิตผู้สำเร็จราชการเมืองตะกั่วป่าเป็นพี่น้องคู่คิดอ่านได้ทำราชการฉลองพระเดชพระคุณด้วยกันมาช้านาน ทนุบำรุงบ้านเมือง ทำภาษีอากรทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย จนบ้านเมืองมั่งคั่งบริบูรณ์มากขึ้นกว่าแต่ก่อน อาญาอุทธรณ์จะเกี่ยวข้องแก่กรมการผู้ใหญ่ผู้น้อยไพร่บ้านพลเมืองก็ไม่มีแต่สักครั้งหนึ่ง เงินภาษีอากรพระราชทรัพย์ของหลวงก็ส่งเข้าไปไม่ได้ค้างล่วงจำนวนปีมีความชอบเป็นอันมาก ครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้ากระหม่อมให้ยกเมืองพังงาขึ้นเป็นเมืองโท นำดอกไม้ทองเงินยเครื่องราชบรรณาการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายมาได้หลายปี ครั้งนี้พระยาบริรักษ์ภูธรถึงแก่กรรมเสียแล้ว ทรงพระราชอาลัยเสียดายเป็นอันมาก มีตราให้หาพระยาเสนานุชิตเข้าไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ กรุงเทพพระมหานคร จะให้พระยาเสนานุชิตไปเป็นผู้สำเร็จราชการเมืองพังงา พระยาเสนานุชิตให้กรามบบังคมทูลพระกรุณาว่ายังอาลัยรักใคร่ที่ทำเลถิ่นฐานบ้านช่องเคยอยู่มา ณ เมืองตะกั่วป่า จะขอรับพระราชทานทำราชการฉลองพระเดชพระคุณอยู่เมืองตะกั่วป่าไปตามเดิม ภาษีอากรส่วนท้าวเทพสุนทรผู้ถึงแก่กรรม จะขอรับทำทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายต่อไปด้วย จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระราชทานนามสัญญาบัตรใหม่เป็นที่พระยาเสนานุชิตสิทธิสาตรามหาสงคราม สยามรัฐภักดีพิริยพาหะ ผู้สำเร็จราชการเมืองตะกั่วป่า ถือศักดินาหมื่นหนึ่ง ให้พระราชทานพานหมากทองคำเหลี่ยมมีเครื่องแปดสิ่งสำรับหนึ่ง คนโททองคำใบหนึ่ง กะโถนทองคำใบหนึ่ง ประคำทองคำร้อยแปดเม็ดสายหนึ่ง กระบี่บั้งทองคำห้าบั้งเล่มหนึ่ง สัปทนปัศตูแดงคันหนึ่ง เสื้อโหมดเทศดอกพื้นม่วงตัวหนึ่ง แพรหงอนไก่เพลาะหนึ่ง ผ้าปูมเขมรผืนหนึ่ง ออกมาทำราชการฉลองพระเดชพระคุณสืบต่อไป เมืองตะกั่วป่ายกขึ้นเป็นเมืองโท ให้ทำดอกไม้ทองเงินทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเหมือนกับเมืองพังงาทำมาแต่ก่อน เมืองถลาง เมืองตะกั่วทุ่ง ให้ขึ้นกับเมืองตะกั่วป่า ให้ฟังบังคับบัญชา พระยาเสนานุชิต ตามอย่างหัวเมืองขึ้นสืบต่อไป แล้วให้พระยาเสนานุชิตจัดแจงทำภาษีอากรแทนท้าวเทพสุนทร และอากรส่วนที่เคยทำมาบวกเข้าด้วยกันเป็นดีบุกปีละสองร้อยสามสิบพารา ถ้าทำภาษีอากรมีกำไรก็ให้บวกทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายขึ้นอีกจะได้เป็นบำเหน็จความชอบสมกับเกี่ยรติยศบ้านเมือง ชื่อเสียงจะได้ปรากฏสืบต่อไป ถ้าถึงมรสุมส่งดอกไม้ทองเงินเครื่องราชบรรณาการ และส่งส่วยภาษีอากรพระราชทรัพย์ของหลวงสำหรับเมืองและหัวเมืองขึ้นเมื่อใดก็ให้เร่งรัดจัดแจงแต่งกรมการคุมเข้าไปส่งอย่าให้ล่วงจำนวนปีไปได้ ให้พระยาเสนานุชิตตั้งใจทำราชการฉลองพระเดชพระคุณตามท้องตราตั้ง และพระราชโอวาทซึ่งโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมตั้งออกมาแต่ก่อนจงทุกประการ สารตรามา ณ วันพุธ เดือนสิบเอ็ด ขึ้นห้าค่ำ ปีระกา ตรีศกตรารูปมนุษย์ถือปืนประจำครั่ง ตราพระคชสีห์น้อยประจำผลึก
    (บันทึก) วัน ๖ ๑๔ฯ๔ ค่ำ จุลศักราช ๑๒๒๓ ปีระกา ตรีศก เพลาสองโมงกับห้าบาท ได้เชิญตราฉบับนี้ตั้งกระบวนแห่ออกไปลุวาง ณ วัดประทุมธานีหน้าเมือง กรมการผู้ใหญ่ผู้น้อยได้รับพระราชทานฟังพร้อมกันสำเนาสัญญาบัตรพระราชลัญจกรพระบรมราชโองการ พระราชลัญจกรลายประแจจีนให้พระยาเสนานุชิตสิทธิสาตรามหาสงคราม คงที่เป็นพระยาผู้สำเร็จราชการเมืองตะกั่วป่า แต่ให้ได้ว่ากล่าวบังคับบัญชาเมืองถลาง เมืองตะกั่วทุ่งด้วย เพราะฉนั้นให้มีสร้อยพระนามเพิ่มเข้าว่า พระยาเสนานุชิตสิทธิสาตรามหาสงคราม สยามรัฐภักดีพิริยพาหะ ผู้สำเร็จราชการเมืองตะกั่วป่า มีเมืองถลาง เมืองตะกั่วทุ่งเป็นเมืองขึ้น พระราชทานให้ถือศักดินา ๑๐๐๐๐ ได้บังคับบัญชาปลัดยกกระบัตร กรมการและราษฎรทั้งปวง บรรดาอยู่ในเขตต์แดนเมืองตะกั่วป่า และเมืองขึ้นทั้งสิ้นโดยยุติธรรมและชอบด้วยราชการ จงเว้นการควรเว้น หมั่นประพฤติการควรประพฤติ สมควรแก่ตำแหน่งทุกประการ และรักษาความซื่อสัตย์สุจริตต่อกรุงเทพมหานครตามอย่างธรรมเนียมคนที่ทรงพระมหากรุณาชุบเลี้ยงทั้งปวง จงเจริญสุขสวัสดิ์ทำราชการฉลองพระเดชพระคุณเทอญ ตั้งแต่ ณ วัน ๔ ๕ฯ๑๑ ค่ำ ปีระกา ตรีศก เป็นปีที่ ๑๑ ของตราดวงที่ประทับนี้ ประจำการแผ่นดินสยาม ศักราช ๑๒๒๓ เป็นวันที่ ๓๘๐๑ ในรัชชกาลปัจจุบัน

    (พระบรมนามาภิไทย)


    สำเนาตราพระคชสีห์สารตรา ท่านเจ้าพระยาอัครมหาเสนาธิบดีอภัยพริยบรากรมพาหุสมุหพระกลาโหม ให้มาแก่หลวงไชยเสนามหาดไทย หลวงเพชรกำแหงรองเมือง หลวงพรหมเสนาสัสดี กรมการผู้อยู่รักษาเมืองตะกั่วป่า ด้วยมีพะรบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งว่า ท้าวเทพสุนทร รับทำอากรดีบุกที่ตำบลแขวงเมืองตะกั่วป่า ผูกขาดปีละร้อยสิบห้าพารา บัดนี้ท้าวเทพสุนทรถึงแก่กรรมแล้ว ครั้งนี้พระยาเสนานุชิตเข้าไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ กรุงเทพพระมหานคร โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มอบอากรดีบุกให้พระยาเสนานุชิต ผู้สำเร็จราชการเมืองตะกั่วป่า รับทำภาษีอากรดีบุกแทนท้าวเทพสุนทร ตั้งแต่ปีระกา ตรีศก ปีละร้อยสิบห้าพาราสืบต่อไป ด้วยรวมกับอากรเดิมซึ่งพระยาเสนานุชิตรับทำเป็นอากรปีละสองร้อยสามสิบพารา ถ้าปีใดเป็นอธิกมาส ก็ให้บวกอากรขึ้นอีกเดือนหนึ่ง ให้พระยาเสนานุชิตตั้งโรงกลวงสูบถลุงแม่แร่ดีบุกอย่าให้ล่วงแขวงล่วงอำเภอกับเมืองอื่นให้เกิดความอริวิวาทแก่กันแต่สิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ ถ้าทำอากรครบปียังมีกำไรอยู่ ก็ให้บวกทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายขึ้นอีกจะได้เป็นความชอบสืบต่อไป และให้พระยาเสนานุชิตทำอากรดีบุกจงเป็นยุติเป็นธรรม ถ้าราษฎรไทยจีน จะขุดแม่แร่ดีบุกส่งขึ้นโรงกลวงมากน้อยเท่าใด ก็ให้คิดราคาให้ราษฎรไทยจีนให้ครบตามอย่างเคยทำมาแต่ก่อน อย่าให้ทำฎีกาให้แก่ราษฎรให้สอยแทนดีบุกให้ยากแก่ลูกค้าวานิช และขันเฟืองลูกตุ้มคัณฑวิไสยสำหรับตวงรับชั่งแม่แร่ดีบุกนั้น ให้ทำขันเฟืองใหม่สอบสวนได้กันกับขันเฟืองเก่าตีตราจักรประจำขันขันละสิบสองดวง แล้วให้พระยาเสนานุชิตชั่งรับตวงแม่แร่ดีบุกของราษฎรด้วยขันตีตราอย่าให้ทำขันใหม่แปลกปลอมมาตวงแม่แร่ดีบุกให้เหลือเกิน อนึ่งดีบุกปลีกดีบุกย่อยถ้าจะจำหน่ายออกไปนอกเมือง ก็ให้กำกับตีตราเรียกเศษดีบุกตามอย่างเคยเรียกมาแต่ก่อนอย่าให้เศษดีบุกของหลวงขาดไปได้ ถ้าจะส่งดีบุกของหลวงขาดไปได้ ถ้าจะส่งดีบุกเข้าไป ณ กรุงเทพพระมหานครก็ให้ส่งพาราละสามหาบ ห้าสิบชั่งตามอย่างซื้อขายกัน ที่เมืองถลาง เมืองพังงา เมืองตะกั่วทุ่ง เมืองตะกั่วป่า ถ้าถึงกำหนดส่งเงินอากรดีบุกเมื่อใด ก็ให้แต่งกรมการคุมอากรดีบุก เศษดีบุกเข้าไปส่งตามเคยส่งมาแต่ก่อน อย่าให้ค้างล่วงจำนวนปีไปได้ สารตรามา ณ วันพุธ เดือนสิบเอ็ด ขึ้นห้าค่ำ จุลศักราชพันสองร้อยยี่สิบสาม ปีระกา ตรีศกตรารูปมนุษย์ถือปืนประจำครั่ง ตราพระคชสีห์น้อยประจำผลึก (บันทึก) วัน ๖ ๑๔ฯ ๔ ค่ำ จุลศักราช ๑๒๒๓ ปีระกา ตรีศก เพลาสองโมงกับห้าบาท ได้เชิญตราฉบับนี้ตั้งกระบวนแห่ออกไปลุวาง ณ วัดประทุมธานีหน้าเมือง กรมการผู้ใหญ่ผู้น้อยได้รับพระราชทานฟังพร้อมกันสำเนาตราพระคชสีห์สารตรา ท่านเจ้าพระยาอัครมหาเสนาธิบดีอภัยพิริยบรากรมพาหุสมุหพระกลาโหม ให้มาแก่พระยานรงค์เรืองฤทธิ์สิทธิสงคราม ผู้สำเร็จราชการเมืองถลางกรมการ ด้วยมีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนารถดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งว่า พระยาบริรักษ์ภูธรผู้สำเร็จราชการเมืองพังงาถึงแก่กรรมเสียแล้ว ให้ยกเมืองตะกั่วป่าขึ้นเป็นเมืองโทเหมือนกับเมืองพังงามาแต่ก่อน เมืองถลางซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นกับเมืองพังงาให้ยกมาขึ้นกับเมืองตะกั่วป่า เมืองภูเก็ตเคยขึ้นกับเมืองพังงามาแต่ก่อน ครั้งนี้พระยาภูเก็ตโลหเกษตรารักษ์ทนุบำรุงไพร่บ้านพลเมือง คิดอ่านชักชวนลูกค้าพานิชไทยจีนแขกมาตั้งบ้านเรือนก่อตึกกว้านตั้งตลาดพิศาลย์ให้ทำมาหากินมั่งคั่งบริบูรณ์บ้านเมืองรุ่งเรืองมาก ภาษีอากรพระราชทรัพย์ของหลวงก็บอกขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ไม่ให้ค้างล่วงจำนวนปีไปได้ ให้ยกเมืองภูเก็ตมาขึ้นกรุงเทพพระมหานคร เมืองตะกั่วทุ่งนั้นบ้านเมืองยังไม่เป็นปรกติเรียบร้อยดี ด้วยครั้งนี้จัดแจงให้นายอ่อนมหาดเล็กบุตรพระยาบริสุทธิ์โลหภูมินทรธิบดีเป็นผู้สำเร็จราชการเมืองใหม่ ๆ จึงให้ยกเมืองตะกั่วทุ่งไปขึ้นกับเมืองตะกั่วป่าแทนเมืองภูเก็ตไปพลาง ถ้าเมืองใดบ้านเมืองบริบูรณ์เป็นปรกติเรียบร้อยดีเหมือนดังเมืองภูเก็ตได้ ก็จะยกให้ไปขึ้นกรุงเทพพระมหานครต่อไปภายหลัง ให้ผู้สำเร็จราชการเมืองถลางกรมการ ฟังบังคับบัญชาพระยาเสนานุชิตผู้สำเร็จราชการเมืองตะกั่วป่าแต่ซึ่งชอบด้วยราชการตามชั้นผู้ใหญ่ผู้น้อยอย่างหัวเมืองขึ้นสืบมาแต่ก่อน อย่าให้เสียราชการไปแต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ สารตรามา ณ วันพุธ เดือนสิบเอ็ด ขึ้นห้าค่ำ จุลศักราชพันสองร้อยยี่สิบสาม ปีระกา นักษัตรตรีศกตรารูปมนุษย์ถือปืนประจำครั่ง ตราพระคชสีห์น้อยประจำผลึกสำเนาตราพระคชสีห์สารตรา ท่านเจ้าพระยาอัครมหาเสนาธิบดีอภัยพริยบรากรมพาหุสมุหพระกลาโหม ให้มาแด่พระเพชรรีรีศรีพิไชยสงคราม ปลัดกรมการเมืองตะกั่วทุ่ง ด้วยมีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนารถดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งว่า พระยาบริรักษ์ภูธรผู้สำเร็จราชการเมืองพังงาถึงแก่กรรมเสียแล้ว ให้ยกเมืองตะกั่วป่าขึ้นเป็นเมืองโทเหมือนกับเมืองพังงามาแต่ก่อน เมืองถลางซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นกับเมืองพังงาให้ยกมาขึ้นกับเมืองตะกั่วป่า เมืองภูเก็ตเคยขึ้นกับเมืองพังงามาแต่ก่อน ครั้งนี้พระยาภูเก็ตโลหเกษตรารักษ์ทนุบำรุงไพร่บ้านพลเมือง คิดอ่านชักชวนลูกค้าพานิชไทยจีนแขกมาตั้งบ้านเรือนก่อตึกกว้านตั้งตลาดพิศาลย์ให้ทำมาหากินมั่งคั่งบริบูรณ์บ้านเมืองรุ่งเรืองมาก ภาษีอากรพระราชทรัพย์ของหลวงก็บอกขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ไม่ให้ค้างล่วงจำนวนปีไปได้ ให้ยกเมืองภูเก็ตมาขึ้นกรุงเทพพระมหานคร เมืองตะกั่วทุ่งนั้นบ้านเมืองยังไม่เป็นปรกติเรียบร้อยดี ด้วยครั้งนี้จัดแจงให้นายอ่อนมหาดเล็กบุตรพระยาบริสุทธิ์โลหภูมินทรธิบดีเป็นผู้สำเร็จราชการเมืองใหม่ ๆ จึงให้ยกเมืองตะกั่วทุ่งไปขึ้นกับเมืองตะกั่วป่าแทนเมืองภูเก็ตไปพลาง ถ้าเมืองใดบ้านเมืองบริบูรณ์เป็นปรกติเรียบร้อยดีเหมือนดังเมืองภูเก็ตได้ ก็จะยกให้ไปขึ้นกรุงเทพพระมหานครต่อไปภายหลัง ให้ผู้สำเร็จราชการเมืองถลางกรมการ ฟังบังคับบัญชาพระยาเสนานุชิตผู้สำเร็จราชการเมืองตะกั่วป่าแต่ซึ่งชอบด้วยราชการตามชั้นผู้ใหญ่ผู้น้อยอย่างหัวเมืองขึ้นสืบมาแต่ก่อน อย่าให้เสียราชการไปแต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ สารตรามา ณ วันพุธ เดือนสิบเอ็ด ขึ้นห้าค่ำ ปีระกา ตรีศกตรารูปมนุษย์ถือปืนประจำครั่ง ตราพระคชสีห์น้อยประจำผลึกสำเนาตราพระคชสีห์ถึงเมืองตะกั่วป่าสารตรา ท่านเจ้าพระยาอัครมหาเสนาธิบดีอภัยพริยบรากรมพาหุสมุหพระกลาโหม มาถึงพระวิชิตภักดีศรีสุรสงครามปลัด พระสมบัติยานุรักษ์ที่คลัง พระเรืองฤทธิ์รักษาราช พระอินทรศักดิ์ พระสุนทรวรนารถราชภักดี ผู้ช่วยราชการเมืองตะกั่วป่า พระพลพยุหสงครามผู้ว่าราชการเมืองกระบี่ พระบริสุทธิ์โลหภูมินทราธิบดี ผู้ว่าราชการเมืองตะกั่วทุ่ง พระเสนานุวงษ์ภักดีศรีธรรมราช ผู้ว่าราชการเมืองคีรีรัฐนิคมกรมการ
    ด้วยมีใบบอกลงวันพุธเดือนสิบสอง ขึ้นสิบสองค่ำปีมะโรง โทศก ให้หลวงโยธามาตย์กรมการถือมาฉบับหนึ่งว่า พระยาเสนานุชิตผู้ว่าราชการเมืองตะกั่วป่า ป่วยเป็นโรคปากเปื่อย ตั้งแต่ ณ เดือนแปด ปีเถาะ เอกศก พระวิชิตภักดีศรีสุรสงครามปลัดกับพี่น้องได้พาหมอไทยฝรั่งจีนมาประกอบยารักษาอาการให้เปื่อยลามปากไป รับพระราชทานอาหารได้เล็กน้อย ให้แสบเป็นกำลัง
    พระยาบริรักษ์ภูธร ผู้ว่าราชการเมืองพังงา ได้พาหมอไปช่วยรักษาพยาบาลอาการ กลับไปอุจจาระวันละเก้าครั้งสิบครั้ง รับพระราชทานอาหารต้มได้มื้อละช้อนหนึ่งสองช้อนให้อ่อนหิวลง (ต้นฉบับขาด) สิบเอ็ดขึ้นสิบสี่คำปีมะโรงโทศกเวลา (ต้นฉบับขาด) พระยาเสนานุชิต (ต้นฉบับขาด) อาจุได้เจ็ดสิบห้าปี พระวิชิตภักดีศรีสุรสงครามปลัดกับพี่น้องยกศพลงหีบรักษาไว้โดยสมควรแก่ยศบรรดาศักดิ์
    มีความในใบบอกหลายประการ ได้นำขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว มีพระบรมราชโองการนานพระบัณฑูรสุรสิงหนารถดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมว่า
    ทรงพระมหากรุณาชุบเลี้ยงพระยาเสนานุชิตเป็นผู้ว่าราชการเมืองรักษาพระราชอาณาเขตต์ (ต้นฉบับขาด) มิได้มีเหตุเกี่ยวข้องแก่บ้านเมือง ทำนุบำรุงอาณาประชาราษฎร์ลูกค้าวานิชได้ทำมาหากินเป็นปรกติ เรือเมล์ต่างประเทศได้ไปมาค้าขายบ้านเมืองเจริญผลประโยชน์แผ่นดินก็เกิดมาก พระยาเสนานุชิตทำราชการฉลองพระเดชพระคุณมาจนชราอายุเจ็ดสิบห้าปี ไม่มีระแวงในราชการแต่สิ่งหนึ่งสิ่งใด ทรงพระอาลัยพระยาเสนานุชิตเป็นอันมาก
    ซึ่งพระวิชิตภักดีศรีสุรสงครามปลัด พระสมบัติยานุรักษ์ที่คลัง พระเรืองฤทธิ์รักษาราช พระอินทรศักดิ์ พระสุนทรวรนารถราชภักดี ผู้ช่วยราชการเมืองตะกั่วป่า พระพลพยุหสงคราม ผู้ว่าราชการเมืองกระบี่ พระบริสุทธิ์โลหภูมินทรธราธิบดี ผู้ว่าราชการเมืองตะกั่วทุ่ง พระเสนานุวงศ์ภักดีศรีธรรมราช ผู้ว่าราชการเมืองคีรีรัฐนิคม พร้อมด้วยบุตรหลานญาติพี่น้อง กรมการยกศพพระยาเสนานุชิตลงหีบรักษาไว้โดยสมควรแก่ยศบรรดาศักดิ์นั้นชอบแล้ว
    แต่เมืองตะกั่วป่าอยู่ชายทะเลตะวันตก เรือเมล์แลเรือลูกค้าพม่าทวายจีนแขกต่างประเทศไปมาค้าขายมิได้ขาด จีนนายเหมืองลูกจ้างซึ่งทำแร่ดีบุกอยู่นั้น ถ้าบ้านเมืองใดเกิดวิวาทกันขึ้นแล้วก็สะดุ้งสะเทือนกันถึงพวกันทุกเมือง ทางทะเลเล่า จีนสลัดก็มาเที่ยวตีเรือลูกค้าเนือง ๆ จะไว้ใจแก่ราชการมิได้
    ทรงพระราชดำริว่า บุตรชายพระยาเสนานุชิต ได้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานนามสัญญาบัตรตั้งให้มียศบรรดาศักดิ์หลายนาย แต่พระวิชิตภักดีศรีสุรสงครามปลัด เป็นบุตรใหญ่ของพระยาเสนานุชิต ทำราชการฉลองพระเดชพระคุณมาด้วยพระยาเสนานุชิตและญาติพี่น้องช้านานหามี (ต้นฉบับขาด) ควรมอบราชการบ้านเมืองให้ปกครองญาติพี่น้องบุตรหลานสืบตระกูลวงศ์ของพระยาเสนานุชิตต่อไปได้
    จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มอบราชการบ้านเมืองภาษีอากรผลประโยชน์เมืองตะกั่วป่าเมืองขึ้นเมืองตะกั่วป่า ซึ่งพระยาเสนานุชิตได้บังคับบัญชามานั้น ให้พระวิชิตภักดีศรีสุรสงครามปลัด เป็นผู้ว่าราชการเมืองตะกั่วป่า บังคับบัญชาทุกประการ
    ให้พระยาสมบัติยานุรักษ์ที่คลัง พระเรืองฤทธิ์รักษาราช พระอินทรศักดิ์ พระสุนทรวรนารถราชภักดี ผู้ช่วยราชการเมืองตะกั่วป่า พระพลพยุหสงคราม ผู้ว่าราชการเมืองกระบี่ พระบริสุทธิ์โลหภูมินทรธราธิบดี ผู้ว่าราชการเมืองตะกั่วทุ่ง พระเสนานุวงศ์ภักดีศรีธรรมราช ผู้ว่าราชการเมืองคีรีรัฐนิคม ญาติพี่น้องบุตรหลานและกรมการแขวงนายบ้าน นายอำเภอ เจ้าภาษีอากรเมืองตะกั่วป่า เมืองขึ้นเมืองตะกั่วป่า ฟังบังคับบัญชาพระวิชิตภักดีศรีสุรสงครามปลัด ซึ่งเป็นผู้ว่าราชการเมืองผู้ใหญ่แต่ซึ่งชอบด้วยราชการ
    ให้พระวิชิตภักดีศรีสุรสงครามปลัด ผู้ว่าราชการเมือง มีจิตต์โอบอ้อมอารีแก่ญาติพี่น้องบุตรหลานกรมการตามแบบอย่างพระยาเสนานุชิตประพฤติมาแต่ก่อน ถึงเทศกาลพระราชพิธีตรุษสาตร ก็ให้พร้อมด้วยญาติพี่น้องกรมการผู้ใหญ่ผู้น้อย ณ พระอารารมตามเคย บ้ายหน้าต่อกรุงเทพมหานคร กราบถวายบังคมต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ทำสัตยานุสัตย์ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงพระคุณธรรมอันมหาประเสริฐ (ต้นฉบับขาด) พระราชทานน้ำพระพิพัฒน์สัตยาปีละสองครั้งตามอย่างธรรมเนียม
    ถ้าทากรศพพระยาเสนานุชิตเสร็จแล้ว ให้พระวิชิตภักดีศรีสุรสงครามปลัด ผู้ว่าราชการเมืองตะกั่วป่า เข้ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ กรุงเทพมหานคร จะได้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานนามสัญญาบัตรเป็นผู้สำเร้จราชการเมืองตะกั่วป่าสืบตระกูลวงศ์ต่อไป สารตรามา ณ วันพฤหัส เดือนอ้าย แรมเจ็ดค่ำ จุลศักราชพันสองร้อยสี่สิบสอง ปีมะโรง โทศก
    ตรารูปมนุษย์ถือปืนประจำครั่ง ตราพระคชสีห์น้อยประจำผลึก
    สำเนาจดหมายบันทึก** (บันทึกฉบับนี้เขียนด้วยกระดาษฝรั่งสีครามอ่อนเส้นดินสอ ข้าพเจ้าดูเหมือนเป็นลายมือพระนรเทพภักดี (สิทธิ์ ณ นคร) น่าจะจดไว้เมื่อประชุมญาติพี่น้องพร้อมกัน ตรวจตราเครื่องยศที่พระราชทานเป็นลำดับมาที่จะต้องส่งคืนเมื่อเวลาตายแล้ว)ณ วัน ๑๙ฯ ๙ ค่ำ ปีชวด จัตวาศก ๑๒๑๔ โปรดเลื่อนเป็นพระยา พระราชทานถาดหมากทองคำ 1 คนโททองคำใบ ๑ ประคำทองสาย ๑ กระบี่บั้งทองเล่ม ๑ สัปทนปัศตูคัน ๑ เสื้อทรงประพาสตัว ๑ หมวกตุ้มบี้ใบ ๑ เสื้อเข้มขาบริ้วตัว ๑ แพรขาวผืน ๑ ผ้าปูมผืน ๑
    วัน ๔๕ ฯ ๑๑ ค่ำ ปีระกา ตรีศก โปรดเลื่อนเป็นเมืองโท พระราชทานพานหมากทองคำเหลี่ยมมีเครื่อง ๘ สิ่ง สำรับ ๑ คนโททองใบ ๑ กะโถนทองใบ ๑ ประคำทอง ๑๐๘ สาย ๑ กระบี่บั้งทอง ๕ บั้ง เล่ม ๑ สัปทนปัศตูคัน ๑ เสื้อโหมดเทศดอกพื้นม่วงตัว ๑ แพรหงอนไก่เพลาะ ๑ ผ้าปูมเขมรผืน ๑
    วัน ๑ฯ ๑ ๑ ค่ำ ปีเถาะ เบญจศก ๑๒๐๕ โปรด ฯ ให้ว่าราชการเมืองตะกั่วป่า พระราชทานสัปทนปัศตูคัน ๑ กระบี่บั้งทองเล่ม ๑ เสื้อเข้มขาบริ้วตัว ๑ ผ้าปูมผืน ๑ แพรขาวห่มผืน ๑
    ท้องตราและพระราชโอวาททั้ง ๒ ฉบับที่กล่าวนี้ เมื่อก่อนเก็บไว้ที่เรือนคุณเขียน บรรจุกระบอกสีเหลืองถุงโหมดทั้ง ๒ ฉบับ แล้วหายไปยังค้นหาไม่ได้ – พระวรคีรีรักษ์ (วร ณ นคร)


    • Blogger Comments
    • Facebook Comments

    0 ความคิดเห็น :

    แสดงความคิดเห็น

    Item Reviewed: พระยาเสนานุชิตสิทธิสาตรามหาสงคราม พระยาเสนานุชิต (นุช) สายเมืองตะกั่วป่า ชั้น 3 Rating: 5 Reviewed By: phangngachannel
    Scroll to Top