ประเพณีการแต่งงานบาบ๋า หรือ ประเพณีวิวาห์บาบ๋า
ขั้นตอนและพิธีการ
ประเพณีการแต่งงานบาบ๋า เป็นการออกเรือนของคู่บ่าวสาวแบบโบราณ ตามแบบเอกลักษณ์ของชาวจีน โดยเกิดจากความรักของคู่วิวาห์ ซึ่งการจัดงานจะสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือของทั้งครอบครัวและชุมชน เดินทางมาร่วมงาน และทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น กวาดบ้าน, จัดสถานที่, ทำขนม, สำรับกับข้าว, จัดชุดเจ้าสาว, ขับรถ, เตรียมโต๊ะไหว้เทวดา, ส่งตัวคู่บ่าวสาว เป็นต้น ขั้นตอนพิธีแต่งงานบาบ๋าตามประเพณีโบราณจะมีการจัด 7 คืน 7 วัน เนื่องจากในสมัยก่อนไม่มีร้านค้า ร้านอาหาร หรือโรงแรมไว้จัดงาน ทำให้ต้องอาศัยแรงงานจากชาวบ้าน สำหรับมาเตรียมของในแต่ละวัน
1. บรรดาญาติพี่น้องของเจ้าบ่าวจะจุดประทัดเคลื่อนขบวนขันหมากไปบ้านเจ้าสาว เพื่อเชิญเจ้าสาวไปจัดพิธี "ผ่างเต๋" ณ สถานที่ได้ตกลงไว้ โดยมีกลุ่มดนตรีบรรเลงนำ ด้วยการตีฆ้องจีนและปีจีน หรือที่เรียกว่า ตีต่อตีเช้ง ที่หมายถึงการแต่งงาน
2. ภายในขบวนขันหมากของเจ้าบ่าว จะประกอบด้วย ฮวดหนา(ตะกร้าจีนเล็ก) ใส่เงินทองของมีค่า และของหมั้น รวมทั้งเสี่ยหนา (ตะกร้าจีนขนาดใหญ่) บรรทุกรถหรือหาบภายในใส่อาหาร ขนม เครื่องดื่ม ชุดน้ำชา ธูปเทียน เครื่องหอมเซ่นไหว้ เมื่อถึงบ้านเจ้าสาว อึ่มหลาง (แม่สื่อ) จะเป็นผู้ดำเนินการมอบของเหล่าให้แก่ผู้ใหญ่ของฝ่ายหญิง
3. เจ้าบ่าวนั่ง หล่างเชี้ย (รถลากหรือรถเก๋ง) โดยมีพัวเกี๋ย (เพื่อนเจ้าบ่าว) คอยช่วยทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเจ้าบ่าว
4. เมื่อถึงบ้านเจ้าสาวจะมีการจุดประทัดบอกฤกษ์อีกครั้ง ฝ่ายเจ้าสาวจะจัดเด็ก ๆ ไว้รอรับเจ้าบ่าวเข้าบ้านประกอบพิธี พิธีกรจะประกาศชื่อญาติพร้อมทั้งเชิญมารับน้ำชาบ่าวสาว โดยจะใช้ผ้าเช็ดหน้ากวาดที่นั่งเป็นการเชิญญาตินั่ง แล้วช่วยประคองถาดน้ำชาส่งให้ญาติ จากนั้นจิบเสร็จก็ส่งคืนพร้อมให้อั่งเปา ซึ่งญาติของฝ่ายเจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะให้คำอวยพรในช่วงนี้ จากนั้นเป็นอันเสร็จพิธีการแต่งงานของบ่าวสาว ตามพิธีการของจีนโดยสมบูรณ์
โดยชุดเจ้าสาวเสื้อตัวในเป็นเสื้อลูกไม้สีขาวคอตั้งแขนจีบ นุ่งผ้าลายปาเต๊ะ สวมเสื้อครุยผ้าป่านรูเปียหรือผ้ามัสลินปักลวดลาย ซึ่งจะเลือกสีคลุมโทนเดียวกับผ้านุ่ง ติดเครื่องประดับทองชุดใหญ่ที่เรียกว่า โกสัง มีเข็มกลัดชิ้นใหญ่ และอีก 3 ชิ้นเล็ก ใส่กำไลข้อเท้า สวมรองเท้าปักดิ้นหรือลูกปัด เป็นการแสดงถึงความมั่งคั่งของบรรพบุรุษในอดีต ทรงผมมีเอกลักษณ์คือทรงผมเกล้าสูง มีชื่อเรียกว่า ทรงซักอีโบย คือรวบเกล้ามวยด้านบน สองข้างตีโป่งออก ใส่มงกุฎทองมีชื่อเรียกว่า ดอกไม้ไหว ที่ทำด้วยทองคำ ส่วนเจ้าบ่าวแต่งกายชุดนายเหมือง หรือชุดสูทสากลติดดอกไม้ที่หน้าอก
0 ความคิดเห็น :
แสดงความคิดเห็น