• Latest News

    วันอังคารที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2558

    พระยาบริรักษ์ภูธร (ขำ) สายเมืองพังงา ชั้น 4



    พระยาบริรักษ์ภูธร (ขำ) สายเมืองพังงา ชั้น 4




    พระยาบริรักษ์ภูธร (ขำ) เป็นบุตรคนที่สองในจำนวนบุตรธิดา 27 คน ของเจ้าพระยาบริรักษ์ภูธร (แสง) ท่านเกิดที่เมืองไทรบุรี ระหว่างที่บิดายังว่าราชการอยู่ที่เมืองนั้น ปีที่ท่านเกิดไม่ทราบแน่นอน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเล่าไว้ว่า “... ตัวพระยาบริรักษ์เองเกิดที่เมืองไทร บิดาเป็นเจ้าเมือง พระยาเสนานุชิตเก่าเป็นปลัด เมื่อแตก (จากการโจมตีของแขกไทรบุรี) มา พอจำได้ ...” ก็พอจะสันนิษฐานได้ พระยาบริรักษ์ภูธร (แสง) ว่าราชการเมืองไทรบุรีระหว่าง พ.ศ.2364 – 2382 เข้าใจว่าพระยาบริรักษ์ภูธร (ขำ) คงเกิดราวต้นหรือกลางช่วงระยะเวลาดังกล่าว จึงบอกได้ว่าเมื่อแขกกบฏยึดเมืองไทรบุรี พอจำความได้
    พระยาบริรักษ์ภูธร (ขำ) ได้ปฏิบัติราชการช่วยบิดาอยู่ที่เมืองพังงา จนได้เป็นที่พระภักดีขุนชิต ผู้ช่วยราชการ ต่อมาได้เลื่อนเป็นพระยาบริรักษ์ภูธร ผู้ว่าราชการเมืองพังงาแทนบิดาซึ่งถึงแก่อนิจกรรมใน พ.ศ.2404 ในตอนแรก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มีพระราชประสงค์จะโยกย้ายผู้ว่าราชการเมืองในแถบนั้นตามลำดับอาวุโส เพราะเมืองพังงาได้รับยกฐานะเป็นเมืองใหญ่ ระดับเมืองโท มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อผู้ว่าราชการเมือง คือ พระยาบริรักษ์ภูธร (แสง) ถึงอนิจกรรม จึงได้มีท้องตราให้ย้ายพระยาเสนานุชิต (นุช) ผู้ว่าราชการเมืองตะกั่วป่า มาเป็นผู้ว่าราชการเมืองพังงาแทน และให้พระภักดีนุชิต (ขำ) บุตรพระยาบริรักษ์ภูธร (แสง) ซึ่งเป็นผู้ช่วยราชการเมืองพังงา และเป็นหลานของพระยาเสนานุชิต (นุช) ไปเป็นผู้ว่าราชการเมืองตะกั่วป่า แต่พระยาเสนานุชิต (นุช) ขอพระราชทานรับราชการอยู่ที่เดิม จึงต้องเปลี่ยนคำสั่งให้พระภักดีนุชิต (ขำ) เลื่อนเป็นพระยาบริรักษ์ภูธร เป็นผู้ว่าราชการเมืองพังงาแทนบิดา ทำให้ต้องลดฐานะเมืองพังงาลงเป็นเมืองตรี เปลี่ยนฐานะเมืองตะกั่วป่าเป็นเมืองโท ให้เมืองถลาง เมืองตะกั่วทุ่งมาขึ้นต่อดังกล่าวข้างต้น
    ในการเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลผู้ว่าราชการเมืองในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงพระองค์เจ้าปัทมราชที่เมืองนครศรีธรรมราช เล่าไว้ด้วย โดยทรงอ้างถึงคราวที่กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร พระองค์เจ้าคัคณางค์ยุคล พระยาศรีสุริยวงศ์ พระยามนตรีสุริยวงศ์ พระยาฤทธิไกรเกรียงหาญ และเจ้าจอมเป้า (เจ้าจอมในรัชกาลที่ 4) น้องพระยาบริรักษ์ภูธร (ขำ) กลับมาจากส่งเจ้าจอมมารดาน้อยใหญ่ และเจ้าจอมมารดาน้อยเล็กที่เมืองนครศรีธรรมราช ทั้งได้เยี่ยมเจ้าจอมมารดานุ้ย (ทรงเรียก “ป้านุ้ย”) และเยี่ยมศพท่านผู้หญิงอินด้วย ในพระราชหัตถเลขาฉบับนั้นยังทรงเล่าว่าเมื่อเดือนแปดอุตราสาธ ข้างแรม คณะเจ้าเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายทะเลตะวันตก มีพระยาเสนานุชิต (นุช) เป็นหัวหน้า พร้อมด้วยเครือญาติ มีพระภักดีนุชิต (ขำ) เจ้าจอมยี่สุ่น ในรัชกาลที่ 3 และบุตรหลานในสกุล ณ นคร อีกหลายคนเข้ามายังกรุงเทพฯ เดินทางทางบกมาลงเรือที่ท่าทอง ด้วยเหตุที่การคมนาคมและการสื่อสารสมัยนั้นไม่สะดวก ดังนั้นเพียงแต่พี่น้องอยู่คนละฝั่งทะเล ก็ไม่ค่อยทราบข่าวคราวกัน คณะของพระยาเสนานุชิต (นุช) ไม่ทราบข่าวท่านผู้หญิงอินถึงแก่กรรมที่เมืองนครศรีธรรมราชเลย พร้อมกันนั้นได้ทรงเล่าให้พระองค์เจ้าปัทมราชทราบว่าได้เลื่อนยศศักดิ์พระยาเสนานุชิต (นุช) ให้สูงขึ้น และมีการแต่งตั้งเจ้าเมืองกรรมการในหัวเมืองชายทะเลฝ่ายตะวันตกในคราวเดียวกันนั้น สำหรับเมืองพังงาได้โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระภักดีนุชิต (ขำ) ผู้ช่วยราชการเมืองพังงาขึ้นเป็นพระยาบริรักษ์ภูธร บวรสวามิภักดิ์ เสนามาตย์ราชมนตรี ตำแหน่งผู้สำเร็จราชการเมืองพังงา พระราชทานเครื่องยศ คือ ถาดหมากทองคำ คนโททองคำ ประคำทองคำสายหนึ่ง กระบี่บั้งทอง สัปทนปัศตูแดง และเสื้อเข้มขาบริ้วหนึ่งตัว
    ใน พ.ศ.2433 ปลายชีวิตของพระยาบริรักษ์ภูธร (ขำ) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จประพาสเมืองพังงา ทรงชมเชยว่าเป็นผู้ว่าราชการเมืองที่มีระเบียบ รักษาบ้านเมืองดี ถนนหนทางไม่ปล่อยให้ทรุดโทรม เป็นเจ้าเมืองมานานรอบรู้ราชการมาก ทรงซักถามอะไรเกี่ยวกับกิจการบ้านเมือง ตอบได้คล่องแคล่ว ไม่จน เมื่อเปรียบเทียบกับที่ทรงพบครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2414 ดูแก่ไปมาก ตาพิการเป็นต้อขาวทั้งสองข้าง มองเห็นภาพมัว ๆ ไม่ชัด สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงเล่าเรื่องพระยาบริรักษ์ภูธร (ขำ) ไว้อย่างพิสดาร สมควรนำมาแสดงไว้ทั้งหมด ดังนี้
    เรื่องเมืองพังงาสมัยนั้น เรียกได้ว่าเป็นประวัติของคนคนเดียว คือ พระยาบริรักษ์ภูธร (ขำ) บุตรของพระยาไทรบุรี ลูกเจ้าพระยานคร (น้อย) ซึ่งได้มาเป็นผู้ว่าราชการเมืองพังงาคนแรก พระยาพังงา (ขำ) ดูเหมือนจะตั้งใจถ่ายแบบเจ้าพระยานคร (น้อย) ไปประพฤติ คือ ซื่อตรง สิทธิ์ขาดและดูข้างดุร้าย ผู้คนพากันเกรงกลัวนับถือมาก พระยาสโมสรสรรพการ (ทัด)* (* พระยาสโมสรสรรพการ ทัด ศิริสัมพันธ์ (พ.ศ.2392 – 2469) ออกไปอยู่เมืองพังงา เมื่อ พ.ศ. 2413 ขณะอายุได้ 21 ปี ภายหลังกลับมารับราชการกรุงเทพ ฯ ได้รับราชการหลายตำแหน่ง ครั้งสุดท้ายเป็นนายพลโทเจ้ากรมยุทธโยธาทหารบก) เมื่อยังหนุ่มพลัดออกไปอยู่กับพระยาพังงา (ขำ).......................... คราวหนึ่งมาเล่าเรื่องต่าง ๆ อันเป็นอภินิหารของพระยาบริรักษ์ภูธร (ขำ) ให้ฟังหลายเรื่อง เช่นว่ามีเสือพลัดเข้ามาในเมืองพังงา พระยาบริรักษ์ภูธร (ขำ) เกณฑ์ให้ราษฎรสานแผงไปล้อมจับเสือได้ทั้งเป็น ไม่ต้องใช้เครื่องศัตราวุธ และเรื่องยิงจระเข้ พอพระยาพังงา (ขำ) ร้องว่า “ถูกแล้ว” ฝีพายก็ต้องกระโดดลงน้ำไปจับจระเข้ในทันที บางทีได้ขึ้นมา ไม่มีแผลถูกยิงเลย อีกอย่างหนึ่งว่าชอบสัตว์เลี้ยงต่าง ๆ ไม่เลือกว่าสัตว์อย่างไร เลี้ยงทั้งนั้น (ข้อนี้เป็นความจริง หม่อมฉันได้ไปเห็นเอง) แต่เล่าวิตถารออกไปว่า ถึงหัดไก่ไม่ให้ร้องกะต๊ากให้หนวกหู ถ้าไก่ตัวไหนร้องกะต๊ากเมื่อ่ใดก็ให้จับไปเอาหัวจุ่มน้ำจนสำลักแล้วจึงปล่อย จนไก่เข็ด
    ยังมีเรื่องที่หม่อมฉันเคยได้ยินพระยาชลยุทธ ฯ* (* คือกัปตันริชลิว ชาวเดนมาร์ค เข้ามารับราชการเมืองไทยเป็นกัปตันเรือสยามมงกุฎชัยวิชิต มีหน้าที่รับเงินภาษีเมืองพังงา เมืองตะกั่วทุ่ง เมืองตะกั่วป่า และเมืองภูเก็ต ส่งกรุงเทพ ฯ เคยบังคับการเรืองพระที่นั่งเวสาตรี ภายหลังได้เป็นนายพลเรือโท พระยาชลยุทธโยธินทร์) เล่าว่า เมื่อครั้งพวกกุลีเป็นจลาจลที่เมืองภูเก็ตนั้น ข้าหลวงเรียกเจ้าเมืองใกล้เคียงมาประชุมปรึกษาที่จะปราบปรามข้าหลวง ถามความเห็นพระยาบริรักษ์ภูธร (ขำ) ว่าจะเห็นควรทำอย่างไร พระยาบริรักษ์ภูธร (ขำ) ตอบว่าควรให้ตัดหัวพระยาภูเก็ตเสีย ข้าหลวงเกรงใจ ยักคำถามใหม่ว่า ถ้ามีจลาจลเช่นนี้เกิดขึ้นในเมืองพังงา เจ้าคุณจะทำอย่างไร พระยาบริรักษ์ภูธร (ขำ) ตอบว่าเหตุเช่นนี้จะเกิดขึ้นที่เมืองพังงาไม่ได้เป็นอันขาด ข้าหลวงเลยไม่ได้ความเห็นของพระยาพังงา
    แต่มีเรื่องที่หม่อมฉันได้เห็นด้วยตาตนเองเรื่องหนึ่ง เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไปเมืองพังงา ใน พ.ศ. ๒๔๓๓ เวลานั้นพระยาบริรักษ์ภูธร (ขำ) แก่ชราแล้ว จักษุก็มืดมัวทั้งสองข้าง อุตส่าห์มารับเสด็จถึงเรือพระที่นั่ง พอพระยาชลยุทธ ฯ เดินขึ้นบันไดมา คนในเรือพระที่นั่งประหลาดใจกันทั้งลำ ด้วยไม่เคยเห็นพระยาชลยุทธ ฯ นบนอบนับถือใครเหมือนเช่นเคารพต่อพระยาบริรักษ์ภูธร (ขำ) มูลเหตุเกิดแต่เมื่อพระยาชลยุทธ ฯ แรกเข้ามารับราชการได้เป็นนายเรือรบไปรักษาการที่เมืองภูเก็ต ไปคุ้นเคยกับพระยาบริรักษ์แต่ครั้งนั้น ก็เลยนับถือต่อมา
    เมื่อพระยาบริรักษ์ภูธร (ขำ) ขึ้นมาถึงบนเรือพระที่นั่ง หม่อมฉันได้พูดจาสนทนาด้วยก็เห็นว่าเป็นผู้มีอัชฌาสัยดี น่านับถือ แต่เมื่อหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันตกมาขึ้นกระทรวงมหาดไทย* (* พ.ศ. ๒๔๓๗ ได้มีประกาศปันหน้าที่กระทรวงกลาโหมกับกระทรวงมหาดไทย ให้บรรดาหัวเมืองชั้นใน ชั้นนอก หัวเมืองประเทศราช ขึ้นต่อกระทรวงมหาดไทยทั้งสิ้น ส่วนกระทรวงกลาโหม ให้มีหน้าที่เกี่ยวกับการทหารทั้งหมด ทางทหารบก ทหารเรือ เครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์ ป้อม ค่ายคู อู่เรือรบ และพาหนะสำหรับทหาร) พระยาบริรักษ์ภูธร (ขำ) ถึงอนิจกรรมเสียแล้ว หม่อมฉันออกไปตรวจราชการถึงเมืองพังงา ศพยังอยู่ที่เรือน จึงได้ไปเห็นโขลงสัตว์ต่าง ๆ ของพระยาบริรักษ์ภูธร (ขำ) ที่ยังเหลืออยู่ แต่สังเกตดูบ้านเรือนที่อยู่ก็เป็นอย่างเรือนไทย ไม่ทำให้โอ่โถงอย่างใด เขาเล่ากันว่าไม่ใคร่เอาใจใส่ในการสะสมเงินทอง ก็จะเป็นความจริง
    พระยาบริรักษ์ภูธร (ขำ) เป็นคนรักษาแบบธรรมเนียมเก่า ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง การทำพลับพลารับเสด็จ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๓ ก็มีลักษณะการจัดตกแต่งโบราณกว่าเมืองอื่น ถนนเมืองพังงา แม้เวลาล่วงมาสิบปียี่สิบปีก็รักษาไว้อย่างเดิม ลักษณะความเป็นอยู่ในจวนที่พำนักบ่งบอกว่าเป็นคนมักน้อย เคยอยู่ปกติอย่างไร ก็อยู่อย่างนั้น
    ความเป็นคนดุ เด็ดขาด ยังปรากฏจากคำบอกเล่าของพระยาสโมสรสรรพการ นอกเหนือจากที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงเล่าไว้ เป็นต้นว่าการจับสัตว์ป่า เช่น ชะนี ต้องจับให้ได้ด้วยมือ ใครทำผิดต้องถูกตีด้วยหวาย ผู้ได้รับคำสั่งให้มีหน้าที่ตีต้องตีให้แตก ถ้ายั้งมือตีเบาไป ท่านจะลงโทษผู้มีหน้าที่ดังกล่าวนั้น ในช่วงที่พระยาบริรักษ์ภูธร (ขำ) เป็นผู้ว่าราชการเมืองพังงานั้น มีเหตุการณ์ยุ่งยากในบริเวณหัวเมืองชายทะเลฝ่ายตะวันตกอยู่เสมอ ในเรื่องกรรมกรจีนพวกอั้งยี่ก่อการจลาจล ดังได้กล่าวแล้ว่าในการประชุมแก้ปัญหาอั้งยี่ที่เมืองภูเก็ตนั้น พระยาบริรักษ์ภูธร (ขำ) ได้แสดงความคิดเห็นเฉียบขาดต่อที่ประชุม เหตุการณ์รุนแรงเช่นนั้นมิใช่เกิดขึ้นเพียงเมืองภูเก็ตและระนองเท่านั้น แต่ยังลุกลามไปใกล้เมืองพังงาด้วย ใน พ.ศ. ๒๔๒๒ พระอิศราธิไชย (กลิ่น ณ นคร) ผู้ว่าราชการเมืองกระบี่ ก็ถูกพวกจีนปล้นจวนที่พักและฆ่าตาย อีก ๒ ปีต่อมา พวกจีนได้ก่อความวุ่นวายที่เมืองตะกั่วป่าด้วย การก่อความวุ่นวายแต่ละครั้งมักมีสาเหตุซับซ้อน มีการหนุนหลังจากหลาย ๆ ฝ่าย รวมทั้งข้าราชการระดับสูงแข่งผลประโยชน์กัน แต่เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ปรากฏมีที่เมืองพังงา
    นิสัยชอบเลี้ยงสัตว์ก็เป็นเรื่องเด่นที่ใคร ๆ กล่าวขวัญถึง เพราะพังงาเป็นเมืองมีป่าเขามาก สัตว์ป่าอุดม ดังปรากฏในประวัติพระยาบริรักษ์ภูธร (ขำ) ที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าดังกล่าวมาแล้ว มีเสือ จระเข้ชุกชุม พระยาสโมสรสรรพาการขณะมีอายุ ๒๐ – ๒๑ ปี ไปเมืองพังงาเล่าว่า ขณะอยู่ที่เมืองพังงา ตื่นเช้าขึ้นก็ได้ยินเสียงชะนีร้องโหยหวน เสียงไก่ป่าขันเจื้อยแจ้วทั้งเช้าค่ำ ความที่มีสัตว์ป่าอุดม ประกอบกับเจ้าเมืองมีนิสัยรักการเลี้ยงสัตว์ ในจวนจึงมีสัตว์เลี้ยงนานาชนิด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเล่าว่าได้ทอดพระเนตรเห็นนกเขา นกพิราบฝรั่ง และนกอื่น ๆ ในบริเวณจวนเจ้าเมือง ในหอนั่งมีสัปคับช้างเต็มไปหมด ตอนเสด็จพระราชดำเนินออกจากเมืองพังงา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๓ พระยาบริรักษ์ภูธร (ขำ) ยังถวายลิง (เสน) ตัวหนึ่ง หน้าแดง หนวดยาว เล่าว่าจับได้จากเขาแก้วเม่าเล็ก สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงเล่าว่า เมื่อเสด็จตรวจราชการที่เมืองพังงา หลังจากพระยาบริรักษ์ภูธร (ขำ) ถึงอนิจกรรมใหม่ ๆ ยังมีสัตว์อยู่ในจวนอีกมาก ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น
    นอกจากเป็นนักเลงสัตว์เลี้ยงแล้ว พระยาบริรักษ์ภูธร (ขำ) ยังมีสวนดอกไม้อย่างดีด้วย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเล่าว่า “... เลี้ยวทางข้างริมน้ำ เข้าบ้านเจ้าเมืองเข้าในระเนียดไม้กระดาน มีต้นไม้ดอกต้นโต ๆ บุนนาคงามอย่างยิ่ง ๓ ต้น พิกุลกำลังดอกเต็มทุกกิ่ง ลำดวนก็กำลังดอก ดูเป็นนักเลงต้นไม้จริง”
    ตามที่ได้กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่าพระยาบริรักษ์ภูธร (ขำ) เป็นคนมักน้อย ใช้ชีวิตเรียบ ๆ ในด้านครอบครัว ท่านมีบุตรธิดาเพียง ๘ คนเท่านั้น
    พระยาบริรักษ์ภูธร (ขำ) ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองพังงาประมาณ ๓๓ ปี เป็นระยะเวลานานยาวนานจนถึงระยะที่มีการปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงเล่าไว้ว่า เมื่อโอนหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันตกมาขึ้นต่อกระทรวงมหาดไทย ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงนั้น (ประกาศตั้งเสนาบดีลงวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๕ และมีการโอนหัวเมืองปักษ์ใต้ซึ่งเดิมขึ้นต่อกระทรวงกลาโหม มาขึ้นต่อกระทรวงมหาดไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๗) ได้เสด็จไปตรวจราชการที่เมืองพังงาพบว่า ศพพระยาบริรักษ์ภูธร (ขำ) ยังคงเก็บไว้ที่เรือน คือถึงอนิจกรรมก่อนหน้านั้นไม่นานนัก หรือหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสเมืองพังงาครั้งหลังประมาณ ๓ – ๔ ปี



    จาก https://province.myfirstinfo.com/ วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดพังงา



    พระยาบริรักษ์ภูธร (ขำ) อดีตผู้ว่าราชการเมืองพังงา เป็นบุตรคนที่ ๒ ในจำนวนบุตรธิดา ๒๗ คน ของพระยาบริรักษ์ภูธร (แสง) เกิดที่เมืองไทรบุรี ระหว่างช่วงปี พ.ศ. ๒๓๖๔ – ๒๓๘๒ พระยาบริรักษ์ภูธร (ขำ) ได้ปฏิบัติราชการอยู่ที่เมืองพังงาแทนบิดา และถึงแก่อนิจกรรมในวันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๓๘ (ร.ศ. ๑๑๔)
    พ.ศ. ๒๔๓๓ ในช่วงปลายชีวิตของพระยาบริรักษ์ภูธร (ขำ) เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเมืองพังงา ทรงชมเชยว่าพระยาบริรักษ์ภูธร (ขำ) เป็นผู้ที่มีระเบียบรักษาบ้านเมืองดีเป็นเจ้าเมืองนาน รอบรู้ราชการมาก
    พระยาบริรักษ์ภูธร (ขำ) ได้รับการยกย่องมากในเรื่องอภินิหาร เช่น เมื่อมีเสือพลัดเข้ามาในเมืองพังงา พระยาบริรักษ์ (ขำ) เกณฑ์ให้ราษฎรไปล้อมจับเสือได้ทั้งเป็นโดยไม่ต้องใช้อาวุธ แม้แต่เรื่องการจับจระเข้ เล่ากันว่าพอพระยาบริรักษ์ภูธร (ขำ) ร้องว่าถูกแล้ว ฝีพายสามารกระโดดลงน้ำไปจับจระเข้ได้ในทันที บางครั้งได้ขึ้นมาโดยไม่มีแผลถูกยิงเลย
    ท่านเป็นผู้ว่าราชการเมืองพังงาที่มีระเบียบแบบแผน ทำนุบำรุงบ้านเมืองดี ถนนหนทางไม่ปล่อยให้ทรุดโทรม เป็นผู้รอบรู้ราชการดี เคยรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในการเสด็จประพาสเมืองพังงา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๔ และปี พ.ศ. ๒๔๓๓
    นอกจากนี้เมื่อเหตุการณ์คราวกรรมกรจีนพวกอั้งยี่ก่อจลาจลบริเวณหัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันตกนั้น ปรากกว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่เกิดขึ้นกับเมืองพังงาในสมัยที่ท่านเป็นผู้ว่าราชการเมือง เพราะท่านเป็นคนที่เด็ดขาดในการปกครองบ้านเมือง

    • Blogger Comments
    • Facebook Comments

    0 ความคิดเห็น :

    แสดงความคิดเห็น

    Item Reviewed: พระยาบริรักษ์ภูธร (ขำ) สายเมืองพังงา ชั้น 4 Rating: 5 Reviewed By: phangngachannel
    Scroll to Top