• Latest News

    วันศุกร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2558

    ประวัติเมืองตะกั่วป่า

    ประวัติเมืองตะกั่วป่า
    จากการศึกษาข้อมูลทางประวัติศาสตร์พบว่าเดิมเมืองตะกั่วป่า เป็นเมืองเก่าและเป็นศูนย์กลางการค้าแร่ขนาดใหญ่ ซึ่งมีความเจริญรุ่งเรืองมาก ซึ่งในสมัยโบราณได้กล่าวถึงเมืองท่าที่สำคัญทางตะวันออก "สุวรรณภูมิ" อยู่บริเวณแหลมมลายูหรือแหลมทองทางตะวันตกตั้งแต่ตะโกลา (Takola) มีเมืองท่าตะโกลา (Takola) วรรณคดีอินเดียโบราณเรียกว่า "สุวรรณทวีป" ดินแดนที่เรียกว่า "สุวรรณทวีป" มีเมืองท่าที่สำคัญที่นักโบราณคดีว่าไว้ ได้แก่ "เมืองตะกั่วป่า" (Takuapa)
    "ตะกั่วป่า" เดิมเป็นเมืองเรียกว่า "เมืองตะกั่วป่า" แต่ในสมัยโบราณ คือ เมืองตะโกลาเป็นเมืองที่สำคัญเมืองหนึ่งของฝั่งทะเลด้านตะวันตกของภาคใต้มีความเจริญรุ่งเรืองมาพร้อมๆ กับเมืองนครศรีธรรมราชและเมืองไทรบุรี ชาวพื้นเมืองเดิมเป็นชาวป่าพวกหนึ่ง เรียกว่า "ซาไก" ต่อมาชาวมลายูได้อพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งในดินแดนแถบนี้ประมาณ พ.ศ. 200 – 300 พระเจ้าอโศกมหาราชจักรพรรดิแห่งประเทศอินเดียได้ยกกองทัพมาปราบแคว้นกลิงคราษฎร์ ในดินแดนตะวันออกเฉียงใต้ ชาวกลิงคราษฎร์บางพวก จึงได้อพยพมาขึ้นที่เมืองตะกั่วป่า และเมืองใกล้เคียงโดยได้นำความรู้ต่างๆ มาเผยแพร่ในดินแดนแถบนี้ด้วยเมืองตะกั่วป่าเป็นเมืองท่าที่สำคัญ ที่ชนชาติทางตะวันตกรู้จักเป็นอย่างดี โดยเฉพาะชนชาติอินเดีย ซึ่งได้มาถึงเมืองนี้ก่อนชนชาติอื่นๆ ดังปรากฏหลักฐานในหนังสือมิลินทปัญหาซึ่งได้เขียนไว้เมื่อประมาณ พ.ศ. 500 ว่าชาวอินเดียเรียกเมือง
    ตะกั่วป่าว่า "เมืองตกุโกล" หรือ "ตกโกล" ในภาษาบาลีและ ตกุลในภาษาสิงหล แปลว่า กระวาน เหตุผลที่ได้เรียกชื่อดังนี้ น่าจะสืบเนื่องมาจากเป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ด้วยเครื่องเทศ และในเวลาต่อมาชาวกรีก อาหรับและเปอร์เซียเข้ามาทำการค้าขายติดต่อด้วย ปรากฏตามจดหมายเหตุของปโตเลมี เรียกเมืองนี้ว่า "ตะโกลา" อาหรับเรียกว่า "กะกุละ" หรือ "กะโกละ" นอกจากนี้ ยังมีชาวจีนได้นำเอาเครื่องกระเบื้องเข้ามาค้าขายยังถิ่นฐานนี้ตั้งแต่ 1,600 ปีมาแล้ว และก็มีชนชาติต่างๆ เข้ามาติดต่อค้าขายในพื้นที่แห่งนี้
    เมืองตะกั่วป่าหรือเมืองตะโกลานั้น เดิมขึ้นอยู่ในปกครองของเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งเป็น เมืองเอกราชของประเทศศรีวิชัย แต่เมื่อประมาณ พ.ศ. 1832 ชนชาติไทยได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานในแคว้นสุวรรณภูมิ และมีอำนาจมากขึ้นจนตีได้เมืองนครศรีธรรมราชและเมืองตะกั่วป่า ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2437 ได้แบ่งการปกครองหัวเมืองต่างๆ ออกเป็นมณฑลและจังหวัด เมืองตะกั่วป่าจึงมีฐานะเป็นจังหวัดขึ้นกับมณฑลภูเก็ต และต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 7 เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เมืองตะกั่วป่าจึงถูกลดลำดับความสำคัญจากจังหวัด ตะกั่วป่าลงมาเป็นอำเภอตะกั่วป่าขึ้นกับจังหวัดพังงา เมื่อปี พ.ศ. 2475 โดยศูนย์กลางการปกครองได้ย้ายไปอยู่ที่อำเภอเมือง
    เทศบาลเมืองตะกั่วป่า จัดตั้งตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาลเมืองตะกั่วป่า จังหวัดพังงา พุทธศักราช 2480 โดยที่เห็นสมควรให้ยกฐานะบางส่วนของตำบลตลาดเหนือ ตำบลตลาดใต้ และตำบลย่านยาว อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ขึ้นเป็นเทศบาลเมืองมีนามว่า เทศบาลเมืองตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม พุทธศักราช 2480


    ลักษณะการตั้งถิ่นฐาน
    การตั้งถิ่นฐานทางภาคใต้พบว่าไม่มีชุมชนโบราณตั้งอยู่ในบริเวณที่เป็นภูเขาเลย ส่วนใหญ่ ตั้งถิ่นฐานอยู่ในที่ราบหรือบนเนินทรายที่น้ำท่วมไม่ถึง ชุมชนเหล่านี้จะรวมตัวกันเป็นกลุ่มๆ ในบริเวณ ที่เอื้ออำนวยต่อการติดต่อกับภายนอก ลักษณะภูมิประเทศทางภาคใต้ฝั่งตะวันออกเป็นแผ่นดินแคบ คาบสมุทรทอดยาวไปจนจรดสหพันธรัฐมาเลเซีย การเชื่อมโยงติดต่อกันนั้นนอกจากจะมีเทือกเขา ลำน้ำสายต่างๆ และพื้นที่ราบที่ออกสู่ทะเลแล้วยังสามารถทำเป็นอ่าวจอดเรือได้เป็นอย่างดี จากลักษณะการตั้งถิ่นฐานไม่ปรากฏพบกลุ่มของชุมชนโบราณที่เห็นเป็นรูปร่างได้ แต่เริ่มเห็นในเขตอำเภอตะกั่วป่าตั้งแต่บริเวณเกาะคอเขาตอนปากคลองตะกั่วป่า เข้ามาตามลำคลองที่มีชุมชนกระจายตัวอยู่ตามลำน้ำจนเกือบถึงเชิงเทือกเขาศกที่เป็นต้นน้ำ ชุมชนในอำเภอตะกั่วป่าตั้งแต่บริเวณเกาะคอเขาตอนปากคลองตะกั่วป่า ส่วนเมืองพังงานั้นเป็นเมืองใหม่ จากประวัติของเมืองตะกั่วป่าพบว่าเป็นชุมชนเก่าที่มีสถาปัตยกรรมชิโน - โปรตุกีส เกิดขึ้นสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์จนถึงรัชกาลที่ 7

    การวางผังเมืองหรือการตั้งชุมชนในยุคแรกของชุมชนตะกั่วป่า (เก่า) ซึ่งมีอายุเก่าแก่ที่สุด จะตั้งเมืองอยู่ในบริเวณคุ้งน้ำของคลองตะกั่วป่า ในจุดที่น้ำลึกไหลช้าทำให้ง่ายต่อการเทียบเรือสินค้าขนาดใหญ่และการตั้งเมืองโอบล้อมของหุบเขาลักษณะของการวางที่ดินเป็นผืนแคบยาวเกาะไปตามถนน มีความลึกของที่ดินไม่แน่นอน รูปแบบทางศิลปกรรมและลักษณะตัวอักษรของศิลาจารึกที่พบในเขตอำเภอตะกั่วป่านี้แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของการตั้งหลักแหล่งของพวกอินเดียใต้
    จากการศึกษาทางประวัติศาสตร์พบว่ากลุ่มชุมชนเก่าที่อาศัยอยู่ในเมืองตะกั่วป่า มีสถาปัตยกรรมแบบชิโน-โปรตุกีส ที่เกิดจากอิทธิพลทางการค้ากับชาวต่างชาติ ซึ่งสามารถแยกออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
    ประเภทที่ 1 ได้แก่ อาคารชิโน - โปรตุกีส เป็นอาคารที่มีโครงสร้างเป็นกำแพงรับน้ำหนัก มีอาณาเขตด้านหน้าอาคารและมีลวดลายประดับอาคารเป็นยุโรป เช่น ที่หัวเสาปูนปั้นประดับผนังอาคารหรือขอหน้าต่าง โดยนับรวมถึงอาคารทรงจีน ที่มักไม่ค่อยมีการตกแต่งลวดลายใด ๆ บนอาคารเอาไว้ในกลุ่มนี้
    ประเภทที่ 2 ได้แก่ อาคารชิโน-โปรตุกีสประยุกต์ เป็นอาคารที่เป็นโครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก จะมีอาณาเขตหรือไม่มีก็ได้ แต่ต้องมีลวดลายประดับอาคารในส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นลวดลายแบบจีนหรือยุโรปหรือแบบอุตสาหกรรม
    ประเภทที่ 3 ได้แก่ สถาปัตยกรรมท้องถิ่น เป็นอาคารเรือนแถวไม้ที่พบเป็นส่วนใหญ่ในพื้นที่มีอาณาเขตหรือไม่มีก็ได้ โดยมีหลักในการพิจารณา คือ ความหนาแน่น ความต่อเนื่องหรือความกระจุกตัวของอาคารในพื้นที่ และพิจารณาตำแหน่งที่ตั้งและบทบาทการใช้สอยอาคารที่มีความสำคัญต่อชุมชนเก่านั้นด้วย
    สภาพปัจจุบันของพื้นที่ชุมชนบนถนนศรีตะกั่วป่าตั้งอยู่ริมคลองตะกั่วป่า มีถนนสายสำคัญ 5 สาย คือ ถนนศรีตะกั่วป่า ถนนอุดมธารา ถนนกลั่นแก้ว ถนนมนตรี 2 และถนนหน้าเมือง โดยมีถนนศรีตะกั่วป่า เป็นถนนสายหลัก และเป็นศูนย์กลางที่ตั้งของชุมชนมีอาคารรูปแบบชิโน-โปรตุกีส อยู่อย่างหนาแน่นและค่อนข้างสมบูรณ์ตลอดแนวยาวริมถนนอุดมธาราและบนถนนสายนี้ยังเป็นที่ตั้งของ "กำแพงค่ายเมืองตะกั่วป่า" ซึ่งเป็นโบราณสถานที่สำคัญ โดยอยู่ในการดูแลของกรมศิลปากร ที่ตั้งของกำแพงค่ายเมืองตั้งอยู่ใกล้กับคลองตะกั่วป่าบริเวณสามแยกคลองปิกับคลองตะกั่วป่า การเข้าถึงในปัจจุบันและการติดต่อกับเมืองอื่นๆ ยัง คงเป็นถนนสายเดียว และมีสภาพคดเคี้ยวผ่านแนวเทือกเขาที่สลับซับซ้อน สภาพของการจราจรเป็นไปอย่างบางเบา เหมาะกับการอนุรักษ์เมืองในขณะเดียวกันก็ควรจะพัฒนาเสริมศักยภาพของเมืองให้กลับมามีชีวิตชีวา ที่สามารถทำให้เมืองตะกั่วป่าสามารถดูแลตัวเองได้และมีความมั่นคงอย่างยั่งยืนซึ่งปัจจุบันนี้พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตชุมชนตลาดใหญ่

    ประวัติศาสตร์และลักษณะการตั้งถิ่นฐานของเมืองตะกั่วป่า
    • พ.ศ. 2148 – 2163 เมืองตะกั่วป่าขึ้นอยู่กับฝ่ายกลาโหม ในรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ
    • พ.ศ. 2199 – 2231 เมืองตะกั่วป่าเป็นหัวเมืองชั้นตรี ขึ้นกับกรมท่า ตลอดสมัยอยุธยา
    • พ.ศ. 2310 – 2325 เมืองตะกั่วป่า อยู่ในความปกครองในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
    • พ.ศ. 2328 ต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เมืองตะกั่วป่าขึ้นอยู่ในการปกครองของเมืองถลาง
    • พ.ศ. 2404 เมืองตะกั่วป่าได้รับการยกฐานะเป็นเมืองโทอีกครั้ง
    • พ.ศ. 2437 แก้ไขการปกครองให้เมืองตะกั่วป่าไปขึ้นกับมณฑลภูเก็ต
    • พ.ศ. 2444 ย้ายเมืองตะกั่วป่าไปตั้งที่เมืองใหม่ ตำบลเกาะคอเขา
    • พ.ศ. 2453 ยกเลิกเมืองเปลี่ยนเป็นจังหวัด เมืองตะกั่วป่าได้ยกฐานะเป็นจังหวัดตะกั่วป่า
    • พ.ศ. 2456 ย้ายเมืองตะกั่วป่าจากเกาะคอเขามาตั้ง ณ เมืองตะกั่วป่าในปัจจุบัน
    • พ.ศ. 2474 จังหวัดตะกั่วป่า ถูกยุบเป็นอำเภอขึ้นกับจังหวัดพังงา
    • พ.ศ. 2480 มี พ.ร.ฎ.จัดตั้งเทศบาลเมืองตะกั่วป่า อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา
    • Blogger Comments
    • Facebook Comments

    0 ความคิดเห็น :

    แสดงความคิดเห็น

    Item Reviewed: ประวัติเมืองตะกั่วป่า Rating: 5 Reviewed By: phangngachannel
    Scroll to Top