ที่ห้องประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดพังงา นายประยูร รัตนเสนีย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาจัดเก็บอากรรังนกอีแอ่นจังหวัดพังงา เพื่อเจรจาต่อรองก่อนทำสัญญากับนางกมลทิพย์ ทองฤทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท รังนกอันดามัน จำกัด ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูลเงินอากรรังนกอีแอ่นในจังหวัดพังงามูลค่า 180 ล้านบาทในระยะเวลาสัมปทาน 5 ปี ซึ่งสูงกว่าราคากลางถึง 97 ล้านบาท
โดยก่อนที่จะเจรจาต่อรองกับผู้ชนะการประมูลนั้น ที่ประชุมได้มีการพิจารณาถึงข้อซักถามของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดพังงา ในเรื่องการปรับลดราคากลางและการนำวิธีจัดหาผู้รับสัมปทานอากรรังนกอีแอ่นโดยวิธีพิเศษมาใช้และไม่ได้กำหนดให้ผู้เสนอราคาต้องวางหลักประกันซองสุ่มเสี่ยงต่อการสมยอมราคากัน ซึ่งที่ประชุมได้มีมติว่าขั้นตอนทั้งหมด โปร่งใส ถูกต้อง สามารถชี้แจงได้และเป็นการกระทำที่เป็นประโยชน์แก่ทางราชการอย่างแท้จริง โดยผู้ได้รับสัมปทานได้เสนอราคาประมูล 180,000,000 บาท จะต้องชำระค่าอากรเป็นรายปี จำนวน 5 ปีๆละ 36 ล้านบาท แบ่งจ่าย3งวดๆละ 12 ล้านบาท สำหรับในปีแรกนั้นได้กำหนดให้จ่ายงวดแรกจำนวนร้อยละ 40ของรายปี เป็นเงิน14,000,000 บาท งวดที่2และ3 งวดละ 10,800,000 บาท
ทางบริษัทรังนก อันดามัน ได้ต่อรองขอเลื่อนการชำระเงินอากรงวดแรกของค่าอากรรายปีจำนวน 14,100,000 บาท ไปเป็น วันที่1 มกราคม 2559 จากปกติต้องชำระในวันทำสัญญา ซึ่งทางคณะกรรมการฯได้มีมติไม่เห็นชอบ จากนั้นทางบริษัทได้ขอต่อรองเรื่องหลักประกันสัญญา ที่กำหนดให้เป็นเงินสดร้อยละ 5 เป็นเงิน 9 ล้านบาท และหนังสือค้ำประกันธนาคาร ร้อยละ20 เป็นเงิน 36,000,000 บาท เปลี่ยนเป็นพันธบัตรรัฐบาลจำนวน 45 ล้านบาท ซึ่งที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบ เพราะเห็นว่าทางบริษัทได้เสนอราคาประมูลสูงกว่าราคากลางมากแล้ว จากนั้นทางบริษัทรังนกอันดามัน จำกัด ได้ลงนามสัญญาสัมปทานเก็บรังนกอีแอ่นกับนายบำรุง ปิยนามวาณิช นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพังงา
นางกมลทิพย์ ทองฤทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท รังนกอันดามัน จำกัด เปิดเผยว่า ทางบริษัทมีความพร้อมและความสามารถในการรับสัมปทานเก็บรังนกอีแอ่นในจังหวัดพังงา เพราะบริษัทมีบุคลากรที่มีประสบการณ์และเคยรับสัมปทานในหลายท้องที่อย่างต่อเนื่องตลอดมา แม้ปัจจุบันราคารังนกอีแอ่นในตลาดโลกจะตกต่ำเป็นอย่างมาก ทางบริษัทได้มีความชำนาญในตลาดการค้ารังนกเป็นอย่างดีและมั่นใจว่าจะสามารถขายรังนกได้อย่างแน่นอน โดยบริษัทจะเน้นในวิธีเพิ่มประชากรนกอีแอ่นโดยวิธีธรรมชาติ ซึ่งจะทำให้เก็บรังนกได้มากขึ้น คาดว่าทางบริษัทจะจะสามารถทำกำไรได้ในปีที่4หรือปีที่ 5 อย่างแน่นอน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เงินอากรที่ได้รับจากผู้รับสัมปทานนั้น ร้อยละ 5 เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการของคณะกรรมการพิจารณาจัดเก็บอากรรังนกอีแอ่นจังหวัดพังงา ที่เหลือจะจัดแบ่งให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมดในจังหวัดพังงาโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นที่ตั้งของรังนกจะได้รับส่วนแบ่งมากขึ้นตามจำนวนที่เก็บรังนกได้ในแต่ละปี
อโนทัย งานดี/พังงา/081-9567277
0 ความคิดเห็น :
แสดงความคิดเห็น