พริกชีขาวคุระบุรี
พังงา สร้างรายได้ให้กลุ่มเกษตรเฉียด 35 ล้านบาทต่อปี
เกษตรกรจังหวัดพังงา
โดยเฉพาะอำเภอคุระบุรีปลูกพริกชีขาวเป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้มากว่าอาชีพหลัก
ทำเงินให้เกษตรกรมูลค่าเกือบ 35 ล้านบาท/ปี
โดยใช้ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต
ผลิตเชื้อราไตรโคเดอร์มาและเชื้อราบิวเวอร์เรียใช้เอง ทำให้ลดต้นทุนการผลิต
ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและปลอดภัยต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค
พื้นที่อำเภอคุระบุรี
จังหวัดพังงา เป็นที่เลื่องลือถึงแหล่งปลูกพริกพื้นเมือง
ประเมินได้ว่าเป็นพริกพื้นเมืองที่ได้รับความนิยมมากที่สุดใน 14 จังหวัดภาคใต้
เพราะพริกชนิดนี้เป็นพริกที่มีความเผ็ด เมื่อนำไปเป็นส่วนผสมในเครื่องแกงอาหารปักษ์ใต้จะมีสีสวยงาม
ที่สำคัญเมื่อปรุงอาหารจะมีกลิ่นหอมชวนลิ้มรสของพริกในอาหารนั้นๆ ชาวบ้านเรียกพริกพื้นเมืองชนิดนี้ว่า
“พริกชีขาว” เนื่องจากเมื่อติดผลตอนแรกจะเป็นสีขาว
จากนั้นค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ส้ม และท้ายที่สุด คือส้มเข้ม
โดยจะปลูกเป็นพืชแซมในสวนยางพาราและปาล์มน้ำมันที่ยังมีขนาดเล็ก
พริกชนิดนี้ต้องการแสงแดดน้อย ปลูกได้ตลอดทั้งปี มีปัญหาบ้างในช่วงฤดูฝน
คือโรครากเน่า โคนเน่า และแอนแทรคโนส
นายไพรัช แก้วยิ้ม บ้านเลขที่ 65/33 หมู่ที่ 2
ตำบลบางวัน อำเภอคุระบุรี สมาชิกของศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) ตำบลบางวัน ปลูกพริกชีขาวมานานหลายปี
ให้ข้อมูลว่า พริกชีขาวคุระบุรี เป็นพืชที่ปลูกง่าย ดูแลไม่ยาก กำไรดี
โรคแมลงรบกวนน้อย รายได้ดี ทำให้สมาชิกในกลุ่มสามารถปลดหนี้ได้หมด
ถือว่าเป็นพืชที่น่าสนใจในภาวะพืชเศรษฐกิจหลักมีปัญหาความไม่แน่นอนในเรื่องราคา
ซึ่งพบว่ากระบวนการในการปลูก
นั้นไม่ยากเพียงแค่ไถดินตากทิ้งไว้ 3-7 วัน หว่านปูนขาวหรือโดโลไมท์อัตรา 150-200
กิโลกรัม/ไร่ ปุ๋ยคอก ประมาณ 1,000 กิโลกรัม/ไร่
และคลุกเคล้าด้วยเชื้อราไตรโคเดอร์มา
ซึ่งเกษตรกรที่เป็นสมาชิกของศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนเป็นผู้ผลิตเอง
เพื่อป้องกันโรครากเน่า โคนเน่า โรคเหี่ยว เพื่อป้องกันเชื้อรา
ในดิน
จากนั้นก็ทำการการเพาะกล้าพริก
ซึ่งทำได้หลายวิธี ได้แก่ เพาะในถาดเพาะ หว่านในตะกร้าพลาสติก ที่ใช้ทรายเป็นวัสดุปลูก
แนะนำให้ใช้ทรายขี้เป็ดชนิดหยาบ
ขั้นตอนสำคัญต้องนำทรายไปต้มเพื่อฆ่าเชื้อโรคก่อนเพาะในถุงหรือลงแปลงเพาะ
เป็นวิธีการที่ประหยัด อายุกล้า ประมาณ 20-25 วัน
หลังจากนั้นทำการใช้พลาสติกสีดำคลุมแปลงปลูกเพื่อป้องกันวัชพืช
เป็นการลดต้นทุนการผลิตในการจ้างแรงงานกำจัดวัชพืช ก่อนจะนำกล้าพริกปลูกในแปลงปลูกที่เตรียมไว้
โดยใช้ระยะระหว่างต้น 50 เซนติเมตร ระหว่างแถว 100 เซนติเมตร ใส่ปุ๋ยอินทรีย์เดือนละครั้ง
ซึ่งการใส่ปุ๋ยนั้นก็ใส่เพียงที่โคนต้นโดยการโรยให้รอบ โดยจะใช้ปุ๋ยชีวภาพเป็นหลัก
หากจำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมีนำมาผสมกับปุ๋ยชีวภาพตามสัดส่วน ปุ๋ยชีวภาพ : ปุ๋ยเคมี ในอัตรา 9 : 1 เพื่อลดต้นทุนการผลิตและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาสารเคมีตกค้าง
รวมทั้งช่วยให้ดินปลูกมีสภาพดี
ส่วนฤดูกาลปลูก
สามารถปลูกตั้งแต่เดือนสิงหาคม – พฤศจิกายน โดยเนื้อที่ 1 ไร่ ปลูกได้ 400 ต้น มีต้นทุนการผลิต
ประมาณ 3,500 บาท/ไร่ มีผลผลิต เฉลี่ยต้นละ 3 กิโลกรัม หรือ 1,200 กิโลกรัม/ไร่
ในปัจจุบัน
ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 100 บาท/กิโลกรัม กลุ่มสามารถผลิตพริกขาวคุระได้ปริมาณรวม 388
ตัน จึงทำให้มีมูลค่าเกือบ 35 ล้านบาท
ด้านนายสมมารถ
สยมภาค เกษตรจังหวัดพังงา กล่าวว่า เพื่อเป็นการพัฒนาการปลูกพริกชีขาวคุระบุรีให้มีคุณภาพและปลอดภัย
ในปี 2558 สำนักงานเกษตรจังหวัดพังงาและสำนักงานเกษตรอำเภอคุระบุรี ได้รวมกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพริก
จำนวน 2 กลุ่ม สมาชิก 75 ราย พื้นที่ปลูก 485 ไร่
เพื่อรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตตามกระบวนการเรียนรู้ ภายใต้ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน
(ศจช.) มีการลด ละ เลิก การใช้สารเคมีในพื้นที่ปลูกพริก
โดยเปลี่ยนมาใช้สารชีวภัณฑ์ในการป้องกันและกำจัดศัตรูพืชแทน เช่น
การใช้เชื้อไตรโค-เดอร์มา การใช้เชื้อราบิวเวอร์เรียกำจัดแมลง
ใช้น้ำหมักสมุนไพรฉีดพ่นในช่วงออกดอกเพื่อป้องกันศัตรูพืช ทำให้ได้พริกที่มีคุณภาพ
สีสวย และปลอดภัยทั้งตัวเกษตรกรผู้ผลิตและผู้บริโภค
กล่าวต่อ
พริกชีขาวคุระบุรี ปลูกง่าย ดูแลไม่ยาก กำไรดี โรคแมลงรบกวนน้อย หากใช้สารชีวภัณฑ์
และสารชีวภาพตลอดช่วงฤดูกาลปลูก 90 วัน รายได้ดี ปลดหนี้ได้หมด หากต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อสอบถามได้ที่
สำนักงานเกษตรจังหวัดพังงา โทรศัพท์ 0 7648 1467
สำนักงานเกษตรอำเภอคุระบุรี โทรศัพท์ 0 7649 1467
0 ความคิดเห็น :
แสดงความคิดเห็น