• Latest News

    วันอังคารที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2558

    มองพังงาจากเด็กไกลบ้าน


    บทความด้านล่างเป็นบทความที่ Taiwi Eng เคยเขียนให้เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา โดยที่มาของบทความเกิดมาจากเด็กหญิงที่ไปศึกษาต่อในเมืองกรุงและมองย้อน กลับมายังบ้านเกิดของตัวเองว่าเป็นอย่างไร


    จังหวัดพังงาเป็นจังหวัดเล็กๆ ที่มีประชากรประมาณ 2.5แสนคน หรือนับเป็นลำดับที่ 70 จาก 77 จังหวัด หลายคนอาจไม่รู้ว่าจังหวัดพังงาอยู่ตรงไหนหากไม่ระบุว่าอยู่ใกล้ภูเก็ต และด้วยความที่จังหวัดพังงามีประชากรน้อยซึ่งส่วนใหญ่มีนิสัยเรียบง่ายรักสงบจึงอาจเป็นสาเหตุให้ความสะดวกสบายหรือการพัฒนาที่มาจากส่วนกลางอาจส่งมาไม่ถึงหรือมองข้ามพื้นที่เงียบๆ แห่งนี้ไป



    การพัฒนาต่างๆ ที่กล่าวถึงหากจะยกตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรมที่สุดคงหนีไม่พ้นสนามบิน ทั้งที่แทบทุกจังหวัดที่รายรอบจังหวัดพังงาต่างก็มีสนามบินกันหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี ไม่เว้นแม้แต่จังหวัดระนองจังหวัดที่มีประชากรน้อยที่สุดในประเทศ นอกจากสนามบินที่เราไม่มีแล้ว รางรถไฟ รวมถึงรถไฟความเร็วสูงก็ไม่มีท่าทีว่าจะไม่เคยแวะเวียนผ่านมาที่นี่ ทั้งที่รายได้สำคัญของจังหวัดของเราส่วนหนึ่งมาจากการท่องเที่ยว ซึ่งจังหวัดพังงาควรส่งเสริมและอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวในด้านการเดินทางเพิ่มขึ้น เพราะหากระบบขนส่งพัฒนาให้สะดวก ประหยัด รวดเร็ว และปลอดภัยจะช่วยร่นเวลาในการเดินทาง ทำให้การท่องเที่ยวในจังหวัดเข้าถึงได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้จากข้อมูลทางสถิติก็พบว่า ท่าอากาศยานที่ได้รับความนิยมสูงสุดรองจากสุวรรณภูมิก็คือท่าอากาศยานภูเก็ต ดังนั้นหากจังหวัดของเรามีสนามบินเป็นของตัวเองเราจะได้ส่วนแบ่งทางการตลาดจากสนามบินภูเก็ต โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่นิยมมาท่องเที่ยวแบบทัวร์คณะเหมาลำ เมื่อการเดินทางง่ายย่อมนำรายได้คืนสู่จังหวัดของเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่น นักท่องเที่ยวชาวไทยที่ไม่เคยมีโอกาสมาท่องเที่ยวทางใต้เมื่อมีทางเลือกเพิ่มขึ้นมาพวกเขาอาจพิจารณาจังหวัดของเราเป็นที่หมายปลายทางในครั้งต่อไป หรืออย่างน้อยที่สุดเราชาวพังงาก็ได้รับความสะดวกสะบายจากทางเลือกในการเดินทางที่เปิดกว้างกว่าเดิม



    จริงๆ แล้วพังงาก็ได้ชื่อว่าเป็นจังหวัดที่กันดารยากแก่การเข้าถึงมาแต่ไหนแต่ไร หากย้อนกลับในอดีตเมื่อ 60 กว่าปีก่อนการเดินทางมาที่นี่ถือว่าทุรกันดารมาก ไม่มีเส้นทางเข้าสู่จังหวัดพังงาโดยตรงต้องเปลี่ยนเส้นทางทั้งรถไฟ รถยนต์ และเรือ รายได้หลักของจังหวัดในช่วงเวลานั้นมาจากธุรกิจเหมืองแร่ที่เน้นเส้นทางการเดินทางด้วยเรือ ยุคนี้เป็นยุครุ่งเรืองยุคหนึ่งของชาวพังงาดังที่เราคุ้นชินกันดีจากคำขวัญจังหวัดที่ขึ้นต้นว่า “แร่หมื่นล้าน” ก่อนที่ธุรกิจเหมืองแร่จะปิดลงจนหมดในพ.ศ. 2527 ซึ่งธุรกิจเหมืองแร่สะท้อนการเปิดเมืองให้แก่นายทุน-ชาวต่างชาติเข้าสู่จังหวัดของเราเป็นครั้งแรก ก่อนที่จะรุ่งเรืองและเป็นที่รู้จักของชาวต่างอีกครั้งในธุรกิจท่องเที่ยวในช่วง 10 ปีหลังนี้



    และเมื่อกล่าวถึงการท่องเที่ยวย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่กล่าวถึงภาษาที่สองหรือภาษาที่สาม เราชาวพังงาอยากให้จังหวัดของเราส่งเสริมเรื่องภาษาอังกฤษแก่เยาวชนรวมถึงประชาชนทั่วไป เพราะมีความรู้สึกว่าเด็กต่างจังหวัดจำนวนไม่น้อยอ่อนภาษาอังกฤษ ทั้งที่จังหวัดของเราคลุกคลีอยู่กับธุรกิจท่องเที่ยวโดยเฉพาะที่ต้องสื่อสารกับชาวต่างชาติอยู่ตลอดเวลา จังหวัดของเราจึงน่าจะถูกส่งเสริมให้เป็นพื้นที่พิเศษคล้ายๆ เมืองขึ้นหรือประเทศที่มีชาวต่างชาติอาศัยอยู่มาก โดยจัดให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง เปิดโอกาสให้นักเรียนนักศึกษาได้ใช้ภาษาอังกฤษจริงในชีวิตประจำวันด้วยการทำงานนอกเวลา เช่น อาจเสนอโปรเจคหรือแพ็คเกจพิเศษคล้าย home stay แต่เปลี่ยนเป็น home-cooked meal โดยให้นักท่องเที่ยวไปรับประทารอาหารร่วมกับชาวบ้าน โดยที่ชาวบ้านเป็นคนทำอาหาร (พื้นเมืองหรืออาหารไทย) รับรองแลกกับการที่ฝรั่งมาร่วมวงสนทนา ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสการเรียนรู้ทั้งภาษาและวัฒนธรรมให้แก่ทั้งสองฝ่าย เป็นต้น นอกจากภาษาอังกฤษแล้ว ภาษาจีนและภาษารัสเซียก็น่าอีกสองภาษาที่น่าสนใจ เพราะเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อมากและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นหากเราเตรียมบุกเบิกเปิดตลาดเพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับนักท่องเที่ยวชาวจีนให้สามารถเดินทางมาท่องเที่ยวจังหวัดเราได้ง่ายๆ และชาวบ้านสามารถสื่อสารเป็นภาษาจีนได้บ้างก็น่าจะส่งเสริ่มให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและท้องถิ่นเพิ่มมากยิ่งขึ้น ลูกหลานของพวกเราจะได้ไม่ต้องดั้นด้นไปหางานในพื้นที่อื่น ครอบครัวกลับมาเข้มแข็งเมื่อประชากรกลุ่มวัยทำงานหวนคืนสู่บ้านเกิดร่วมกันพัฒนาจังหวัดของเราต่อไป



    จังหวัดพังงาเป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่เข้าถึงยากและเป็นจังหวัดที่ประชาชนทั่วไปไม่คุ้นเคย ดังนั้นการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ให้ผู้คนรู้จักและคุ้นเคยจังหวัดของเรามากขึ้นสามารถลดความกลัว และความไม่รู้ของนักท่องเที่ยวได้ (เช่น กลัวว่าจะมีระเบิดเหมือนสามชายแดนใต้) เพราะปัจจุบันนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่เดินทางมาที่นี่มักเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ นักท่องเที่ยวชาวไทยวัยทำงาน หรือนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเป็นครอบครัวเพราะเคยเดินทางมาก่อนแล้ว เราจะพบนักท่องเที่ยววัยรุ่นหรือวัยเริ่มต้นทำงานค่อนข้างน้อย ซึ่งอาจเป็นเพราะการเดินทางมาถึงพังงามีช่องทางให้เลือกไม่มากนักโดยวิธีที่แพร่หลายและง่ายที่สุดคือการโดยสารด้วยรถทัวร์หรือรถส่วนตัว นอกจากนี้การเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดก็ยังมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงส่งผลให้นักท่องเที่ยวมีจำนวนจำกัด และยิ่งเมื่อการท่องเที่ยวของเรามีหน้า High Season และหน้า low Season ที่หน้า low Season มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติบางตา ดังนั้นเราน่าจะสร้างจุดเด่นจุดขายอื่นๆ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวไทยให้เลือกที่จะมาท่องเที่ยวจังหวัดของเรา เช่นอาจสร้างให้จังหวัดของเราขึ้นชื่อเรื่องทริปเพื่อสุขภาพ ทริปรับประทานอาหารอร่อย ทริปปฏิบัติธรรม(สร้างสำนักสงฆ์ที่น่าเคารพบูชา) เพื่อส่งเสริมรายได้สร้างกิจกรรมทดแทนอาชีพที่หายไปจากช่วง High Season เมื่อรายได้ถัวเฉลี่ยต่อปีดีขึ้นย่อมทำให้ไม่ต้องเก็บค่าบริการแพงเกินควรในช่วง High Season และควรมีการจำกัดอัตราค่าโดยสารในพื้นที่ให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกันที่ดี กล่าวคือ การที่หารถไปเที่ยวสถานที่ต่างๆ ได้ยากและราคาแพง ย่อมทำให้นักท่องเที่ยวไม่รู้สึกสบายใจเมื่อต้องมาท่องเที่ยวยังจังหวัดของเรา



    หากจะหาจุดเด่นอีกข้อหนึ่งของจังหวัดพังงานอกจากธรรมชาติที่สวยงามขึ้นชื่อแล้ว อาหารการกินของชาวพังงานั้นก็อุดมสมบูรณ์ไม่แพ้ใคร เรามีทั้งอาหารทะเลสดๆ อาหารใต้ ผักพื้นเมือง ขนม ผลไม้ ร้านกาแฟขนมโบราณ ดังนั้นการทำให้จังหวัดพังงาเป็นที่รู้จักในฐานะจังหวัดอาหารขึ้นชื่อก็อาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ ดังเช่นจังหวัดจันทบุรีที่จัดทัวร์ผลไม้ ให้นักท่องเที่ยวเหมาจ่ายในราคาไม่แพง อิ่มละ 79 บาท โดยที่สามารถเด็ดผลไม้สดๆ จากต้นด้วยตนเองเพื่อรับประทานได้ไม่จำกัดผ่านการโฆษณาส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งจังหวัดของเราก็มีผลไม้สดๆ คุณภาพดีมากมายตามฤดูกาลไม่ว่าจะเป็นเงาะ มังคุด ทุเรียน ลองกอง ลางสาด ฯลฯ น่าจะสามารถรองรับความต้องการของทัวร์ต่างชาติหรือแม้กระทั่งทัวร์ชาวไทยที่นิยมการกินได้ไม่ยากเย็นนัก นอกจากผลไม้แล้วอาหารทะเลและอาหารท้องถิ่นก็มีเสน่ห์ไม่แพ้กัน เราอาจจัดทัวร์อาหาร เทศการขนมจีน เทศการอาหารทะเล เทศการอาหารใต้พื้นเมือง โดยมุ่งเน้นให้นักท่องเที่ยวดื่มด่ำกับอาหารคาวหวานและพักผ่อนท่ามกลางบรรยาการที่เงียบสงบ



    อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะเหล่านี้อาจเป็นเรื่องที่คุ้นชินกันอยู่แล้ว แต่ด้วยความที่ความสัมพันธ์ของชุมชนอาจยังไม่เข้มแข็งเพียงพอ ไม่มีผู้ประสาน ไม่มีผู้เรียกร้อง ประชาชนไม่ได้มีอำนาจต่อรองกับนักการเมืองมากนัก ดังที่ทราบกันดีว่า นักการเมืองบางคนก็ไม่เคยสร้างหรือพัฒนาอะไรคืนสู่พื้นที่ของตนอย่างเป็นรูปธรรม เมื่อศูนย์กลายในการประสานงานไม่ชัดเจนอาจเป็นเหตุให้การพัฒนาร่วมมือกันเองระหว่างภาคประชาชนเป็นไปอย่างช้าๆ ดังนั้นการเริ่มต้นทุกอย่างน่าจะย้อนกลับมาที่สมาชิกของชุมชนทุกคนต้องหันมาร่วมมือช่วยเหลือ มุ่งมั่นที่จะนำพาชุมชนของเราไปสู่เป้าหมาย แม้จะไม่เห็นผลในรุ่นของเราแต่อย่างน้อยความร่วมมือและความเข้มแข็งย่อมออกดอกออกผลในช่วงชีวิตของลูกหลานเรา

    • Blogger Comments
    • Facebook Comments

    0 ความคิดเห็น :

    แสดงความคิดเห็น

    Item Reviewed: มองพังงาจากเด็กไกลบ้าน Rating: 5 Reviewed By: phangngachannel
    Scroll to Top